วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

คำภาษาจีนในภาษาไทย


คำภาษาจีนในภาษาไทย
        คำภาษาจีนที่รวบรวมมานี้มีปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่คัดเลือกมาเฉพาะคำที่อ้างอิงถึงภาษาจีน โดยอาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ
                                ๑. กลุ่มที่มี (จ.) กำกับ บอกที่มาของคำ เช่น กวยจี๊ ยี่ห้อ
                                ๒. กลุ่มที่มีข้อความอ้างอิงว่ามาจากจีน เช่น ขงจื๊อ ฮกเกี้ยน
ตัวอย่างคำที่มาจากภาษาจีน
ก๊ก  น. พวก, หมู่, เหล่า, โดยปรกติมักใช้เข้าคู่กันว่า เป็นก๊กเป็นพวก เป็นก๊กเป็นหมู่ เป็นก๊กเป็น เหล่า. (จ. ว่า ประเทศ).
กงเต๊ก  น. การทำบุญให้แก่ผู้ตายตามพิธีของนักบวชนิกายจีนและญวน มีการสวดและเผากระดาษที่ทำเป็นรูปต่าง ๆ มีบ้านเรือน คนใช้ เป็นต้น. (จ.).
กงสี  น. ของกองกลางที่ใช้รวมกันสำหรับคนหมู่หนึ่ง ๆ, หุ้นส่วน, บริษัท. (จ. กงซี ว่า บริษัททำการค้า, กิจการที่จัดเป็นสาธารณะ).
กวยจั๊บ  น. ชื่อของกินชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งที่ใช้ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่หั่นเป็นชิ้นใหญ่ ๆ ต้มสุกแล้วปรุงด้วยเครื่องมีหมูเป็นต้น. (จ.).
ก๋วยเตี๋ยว  น. ชื่อของกินชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้าเป็นเส้น ๆ ถ้าลวกสุกแล้วปรุงด้วยเครื่องมีหมูเป็นต้น.
กุยช่าย  น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Allium tuberosum  Roxb. ในวงศ์ Alliaceae คล้ายต้นหอมหรือกระเทียม ใบแบน กลิ่นฉุน กินได้ นำเข้ามาปลูกเพื่อเป็นอาหาร, พายัพเรียก หอมแป้น. (จ.).
เก๊  ว. ปลอมหรือเลียนแบบเพื่อให้หลงผิดว่าเป็นของแท้, ไม่ใช่ของแท้, ไม่ใช่ของจริง, โดยปริยายหมาย ความว่าไม่มีราคา, ใช้การไม่ได้. (จ.).
เก๊ก  (ปาก) ก. วางท่า; ขับไล่. (จ.).
เกาเหลา  [–เหฺลา] น. แกงมีลักษณะอย่างแกงจืด. (จ.).
เก้าอี้  น. ที่สำหรับนั่ง มีขาและพนักพิง มักยกย้ายไปมาได้ มีหลายชนิด, ถ้ามีรูปยาวใช้นอน เรียกว่า เก้าอี้นอน, ถ้าใช้โยกได้ เรียกว่า เก้าอี้โยก, ลักษณนามว่า ตัว. (จ.).
เกี้ยมไฉ่  น. ผักดองเค็มชนิดหนึ่ง. (จ.).
เกี้ยมอี๋  น. ของกินชนิดหนึ่ง ทําด้วยแป้งข้าวเจ้า เป็นตัว ๆ คล้ายลอดช่อง. (จ. ว่า เจียมอี๊).
เกี๊ยว  น. ของกินชนิดหนึ่งใช้แผ่นแป้งสาลีตัดเป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ห่อหมูสับเป็นต้น. (จ.).
เกี๊ยะ  น. เกือกไม้แบบจีน. (จ.)
จับฉ่าย  น. ชื่ออาหารอย่างจีนชนิดหนึ่งที่ใส่ผักหลาย ๆ อย่าง. (ปาก) ของต่างๆที่ปะปนกันไม่เป็นสําหรับ ไม่เป็นชุด. (จ.).
จีนเต็ง  น. หัวหน้าคนงานที่เป็นชาวจีน (ใช้เฉพาะในสถานที่ทําการร่วมกันมาก ๆ เช่น บ่อนหรือโรงสุรา).
จีนแส  น. หมอ, ครู, ซินแส ก็ว่า. (จ. ซินแซ).
เจ  น. อาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ และผักบางชนิดเช่นกระเทียม กุยช่าย ผักชี, แจ ก็ว่า. (จ. ว่า แจ).
เจ๊ง  (ปาก) ก. เลิกล้มกิจการเพราะหมดทุน; สิ้นสุด. (จ.).
โจ๊ก   น. ข้าวต้มชนิดหนึ่งที่ใช้ปลายข้าวต้มจนเละ. (จ.).
เฉาก๊วย  น. ชื่อขนมชนิดหนึ่ง สีดํา ทําจากเมือกที่ได้จากการต้มเคี่ยวพรรณไม้ชนิดหนึ่ง ใส่แป้งลงไปผสม กวนให้ทั่ว ทิ้งไว้ให้เย็น กินกับนํ้าหวานหรือใส่นํ้าตาลทรายแดง. (จ.).
แฉโพย  ก. เปิดเผยข้อที่ปิดบังหรือความลับ. (จ.).
ซวย  (ปาก) ว. เคราะห์ร้าย, อับโชค. (จ.).
ซาลาเปา  น. ชื่อขนมชนิดหนึ่งของจีน ทําด้วยแป้งสาลีปั้นเป็นลูกกลม ข้างในใส่ไส้ มีทั้งไส้หวานและไส้เค็ม.
ซินแส  น. หมอ, ครู, จีนแส ก็ว่า. (จ.).
เซียน  น. ผู้สำเร็จ, ผู้วิเศษ; โดยปริยายหมายความว่า ผู้ที่เก่งหรือชำนาญในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น เซียนการพนัน. (จ.).
เซียมซี  น. ใบทํานายโชคชะตาตามศาลเจ้าหรือวัด มีเลขหมายเทียบกับเลขหมายบนติ้วที่เสี่ยงได้. (จ.).
ตะหลิว  น. เครื่องมือทำด้วยเหล็ก ใช้แซะหรือตักของที่ทอดหรือผัดในกระทะ. (เทียบ จ. เตี้ยะ ว่า กระทะ + หลิว ว่า เครื่องแซะ, เครื่องตัก).
ตังฉ่าย  น. ผักดองแห้งแบบจีนชนิดหนึ่ง ใช้ปรุงอาหาร. (จ.).
ตั๋ว  น. บัตรบางอย่างที่แสดงสิทธิของผู้ใช้ เช่น ตั๋วรถ ตั๋วหนัง. (จ.).
ตุ๋น  ก. ทำให้สุกด้วยวิธีเอาของใส่ภาชนะวางในภาชนะที่มีน้ำแล้วเอาฝาครอบ ตั้งไฟให้น้ำเดือด เช่น  ตุ๋นไข่ ตุ๋นข้าว, เคี่ยวให้เปื่อย เช่น ตุ๋นเนื้อ ตุ๋นเป็ด.  น. เรียกสิ่งที่ทำให้สุกโดยวิธีดังกล่าว เช่น ไข่ ตุ๋น เนื้อตุ๋น เป็ดตุ๋น; (ปาก) โดยปริยายหมายความว่า หลอกลวงเอาไปแทนหมดตัว, ผู้ถูกหลอกลวงเอาไปแทบหมดตัว เรียกว่า ผู้ถูกตุ๋น. (จ.).
เต้าเจี้ยว  น. ถั่วเหลืองที่หมักเกลือสําหรับปรุงอาหาร. (จ.).
เต้าหู้  น. ถั่วเหลืองที่โม่เป็นแป้งแล้วทําเป็นแผ่น ๆ ใช้เป็นอาหาร มี ๒ ชนิด คือ เต้าหู้ขาว และเต้าหู้ เหลือง. (จ.).
เต้าฮวย  น. ชื่อของหวานชนิดหนึ่ง ทําด้วยนํ้าถั่วเหลืองที่มีลักษณะแข็งตัว ปรุงด้วยนํ้าขิงต้มกับนํ้า ตาล. (จ.).
เถ้าแก่  น. ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายในในพระราชสำนัก; ผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในการสู่ขอและการ หมั้น; เรียกชายจีนที่เป็นผู้ใหญ่และมีฐานะดี, เรียกชายจีนที่เป็นเจ้าของกิจการ. (จ. เถ่าแก่).
บะหมี่  น. ชื่ออาหารชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งสาลี เป็นเส้นเล็ก ๆ มีสีเหลือง ลวกสุกแล้วปรุงด้วยเครื่อง มีหมูเป็นต้น. (จ.).
ปุ้งกี๋  น. เครื่องสานรูปคล้ายเปลือกหอยแครง สําหรับใช้โกยดินเป็นต้น, บุ้งกี๋ ก็ว่า. (จ.).
เปีย ๑  น. ผมที่ไว้ยาวบริเวณท้ายทอย, ผมที่ถักห้อยยาวลงมา, ผมเปีย หรือ หางเปีย ก็เรียก, เรียก ลายที่ถักตอก ๓ ขาไขว้กันว่า ลายเปีย หรือ ลายผมเปีย; พวงมาลัยที่มีอุบะห้อยลงมาเหมือน ผมเปีย. (จ.).
เปีย ๒  น. ชื่อขนมอย่างหนึ่ง ทําด้วยแป้งเป็นชั้น ๆ มีไส้ใน, ขนมเปียะ หรือ ขนมเปี๊ยะ ก็ว่า. (จ.).
โป๊  ก. ส่งเสริมสิ่งที่บกพร่อง เช่น ยาโป๊, ทําสิ่งยังบกพร่องอยู่ให้สมบูรณ์ เช่น เอาสีโป๊ตรงที่เป็นช่อง เป็นรู ก่อนทาสีเอาปูนโป๊รอยที่ชํารุด. (จ. โป้ว ว่า ปะชุนเสื้อผ้า, ซ่อมแซม, บำรุงร่างกาย). (ปาก)  ว. เปลือยหรือค่อนข้างเปลือย เช่น รูปโป๊, มีเจตนาเปิดเผยอวัยวะบางส่วนที่ควรปกปิด เช่น แต่งตัวโป๊.
หุน  น. ชื่อมาตราวัดหรือชั่งของจีน ในมาตราวัด ๑ หุน หมายถึงเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ ใน ๑๖ ของ นิ้ว ในมาตราชั่ง ๕ หุน เท่ากับ ๑ เฟื้อง. (จ.).
เหลา   [เหฺลา] น. ภัตตาคาร. (จ.).
อั้งยี่  น. สมาคมลับของคนจีน; (กฎ) ชื่อความผิดอาญาฐานเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธี ดําเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย เรียกว่า ความผิดฐานเป็นอั้งยี่.  (จ.).
อั้งโล่  น. เตาไฟดินเผาชนิดหนึ่งของจีน ยกไปได้. (จ.).
เอี๊ยม  น. แผ่นผ้าสําหรับคาดหน้าอกเด็กเล็ก ๆ, เต่า ก็ว่า. (ดู เต่า ๒). (จ.).
เอี้ยมจุ๊น  น. ชื่อเรือขนาดใหญ่ ต่อด้วยไม้ ท้องเรือเป็นสัน สําหรับขนถ่ายและบรรทุกสินค้า. (จ.).
ฮวงซุ้ย  น. ที่ฝังศพของชาวจีน, ฮวงจุ้ย ก็ว่า. (จ.).
เฮง  (ปาก) ว. โชคดี, เคราะห์ดี. (จ. เฮง ว่า โชคดี).
เฮงซวย  (ปาก) ว. เอาแน่นอนอะไรไม่ได้, คุณภาพต่ำ, ไม่ดี, เช่น คนเฮงซวย ของเฮงซวย เรื่อง เฮงซวย. (จ. เฮง ว่า โชคดี, ซวย ว่า เคราะห์ร้าย, เฮงซวย ว่า ไม่แน่นอน).
เฮี้ยน  (ปาก) ว. มีกําลังแรงหรือมีอํานาจศักดิ์สิทธิ์ที่อาจบันดาลให้เป็นไปได้. (จ.).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น