วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

หลักการเขียน


หลักการเขียน

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com

สิ่งที่สำคัญในการที่จะเป็นนักเขียนที่ดี ก็คือ การรักการอ่าน มีความอยากที่จะเขียนแล้วพัฒนาฝึกฝนอย่างสม่ำเสมออย่าหยุดยั้ง

การเขียนเป็นการสื่อสารของมนุษย์ประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญ นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูล สารสนเทศ การเขียนจึงยิ่งเพิ่มความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก ในบทความฉบับนี้ เราจะมาเรียนรู้เรื่อง หลักการเขียน ก่อนอื่นเราคงต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการเขียน วัตถุประสงค์ของการเขียน และแนวการเขียนหรือขั้นตอนในการเขียนที่ดีก่อน

การเขียน คือ การใช้สัญลักษณ์ทางภาษาซึ่งมีลักษณะเป็นข้อความ เพื่อสื่อความรู้สึก ความรู้ ความคิดต่างๆ ของผู้เขียน ให้ไปสู่ผู้อ่าน

ดังนั้น การเขียนจะแตกต่างจากการพูด กล่าวคือ การเขียนใช้สัญลักษณ์มีลักษณะเป็นข้อความ แต่การพูด จะใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง อากัปกิริยาที่แสดงประกอบ แต่ทั้งการเขียนและการพูดมีความเหมือนกันก็คือ เป็นการสื่อสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร ( ผู้ส่งคือ ผู้เขียน ผู้พูด , ผู้รับสาร คือ ผู้อ่าน ผู้ฟัง)

วัตถุประสงค์ของการเขียน ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้แบ่งแยกไว้หลายประเภทต่างๆกัน เช่น เพื่อเล่าเรื่อง เพื่อการโฆษณาจูงใจ เพื่อแสดงความคิดเห็น เพื่อการสร้างจินตนาการ ฯลฯ

ซึ่งแต่ละวัตถุประสงค์ของการเขียน จะต้องมีการฝึกฝนที่แตกต่างกัน ทั้งทางด้านภาษา สำนวนโวหาร เพื่อบรรลุเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น การเขียนเพื่อสร้างจินตนาการกล่าวคือ การเขียนงานประเภทนวนิยาย บทภาพยนตร์ เรื่องสั้น มีความจำเป็นจะต้องใช้ การพรรณาโวหารและการอุปมาโวหาร มากกว่าการเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็น ซึ่งการเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นก็ต้องใช้การบรรยายโวหารหรือสาธกโวหาร(การแสดงความชัดเจนอาจจะต้องมีการยกตัวอย่าง)

สำหรับแนวการเขียนหรือขั้นตอนในการเขียนที่ดี ก่อนที่ผู้เขียนจะเขียน ผู้เขียนควรต้องมีการวางแผนงานเขียนก่อน เช่น

- การเลือกเรื่องที่จะเขียน ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อเรื่อง ต้องมีลักษณะกล่าวคือ ต้องอยู่ในความสนใจของผู้อ่าน มีความน่าสนใจแปลกใหม่ทันสมัย อีกทั้งหัวข้อดังกล่าวต้องมีข้อมูลเพียงพอ พอที่จะเขียนหากข้อมูลมีไม่เพียงพอก็ต้องหามาเพิ่มจากแหล่งต่างๆ

- การวางโครงเรื่องก็มีความสำคัญ ลักษณะของเรื่องที่ดีจะต้องมีความสอดคล้องกันทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลำดับเรื่อง การเขียนให้ตรงแนวทางเดียวกันกับวัตถุประสงค์

- การใช้สำนวนภาษา ถ้อยคำ มีความสำคัญไม่น้อย เนื่องจากภาษาไทยเรามีความได้เปรียบกว่าภาษาอื่นๆ อีกหลายภาษาเนื่องจากภาษาไทยมีเรื่องของระดับภาษา อีกทั้งความหมายหนึ่งความหมาย เราสามารถใช้คำต่างๆในภาษาไทยแทนได้มากมาย เช่น คำว่า กิน ทาน ฉันท์ ฯลฯ

- การนำเสนองานเขียนให้มีเนื้อหาเหมาะสมกับผู้อ่าน เนื่องจากงานเขียนมีหลายประเภท เช่น งานเขียนบทความ งานเขียนนวนิยาย งานเขียนบทละคร งานเขียนเรื่องสั้น งานเขียนสารคดี งานเขียนนิทาน งานเขียนตำรา ฯลฯ ดังนั้น นักเขียนควรทำความเข้าใจงานเขียนประเภทต่างๆ แล้วจึงนำเสนอเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้อ่าน

 สำหรับบทความฉบับนี้ ได้พูดถึงหลักการเขียนไว้เบื้องต้น ท่านผู้อ่านสามารถไปหารายละเอียด อ่านได้เพิ่มเติมเนื่องจากการเขียนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ผู้ที่ต้องการเป็นนักเขียนหรือมีอาชีพในการเขียนจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เช่น จะต้องสร้างนิสัยให้รักการอ่าน รักการค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ ต้องเป็นคนช่างคิด และต้องเป็นคนขยันฝึกฝนในการเขียนอยู่เสมอ

ถ้าอยากเป็นนักเขียน ท่านจำเป็นจะต้อง เขียน เขียน และเขียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น