วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์วรรณกรรม


วรรณคดีและวรรณกรรม
การวิเคราะห์คุณค่าของวรรณกรรม

๑. ความหมายของการวิเคราะห์วรรณกรรม
การวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาตรวจตรา แยกแยะและประเมินค่า ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้วิเคราะห์ในการนำไปแสดงความคิดเห็น อภิปรายข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นทราบ ด้วยว่าใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์อย่างไร ต่อใครบ้าง ผู้วิเคราะห์ มีความเห็นอย่างไร เรื่องที่อ่านมีคุณค่าด้านใดบ้างและแต่ละด้านสามารถนำไปประยุกต์
ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

๒. แนวในการวิเคราะห์วรรณกรรม
การวิเคราะห์วรรณกรรมมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติอย่างกว้าง ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมงานเขียนทุกประเภท แต่ละประเภท ผู้วิเคราะห์ต้องนำแนวการวิเคราะห์ไปปรับใช้ ให้เหมาะสมกับงานเขียนแต่ละชิ้นงานซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งประพนธ์ เรืองณรงค์ และคณะ (๒๕๔๕ : ๑๒๘) ได้ให้หลักเกณฑ์กว้าง ๆ ในการวิเคราะห์วรรณกรรม ดังนี้
๒.๑ ความเป็นมาหรือประวัติของหนังสือและผู้แต่ง เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ
๒.๒ ลักษณะคำประพันธ์
๒.๓ เรื่องย่อ
๒.๔ เนื้อเรื่อง ให้วิเคราะห์เรื่องในหัวข้อต่อไปนี้ตามลำดับ โดยบางหัวข้ออาจจะมี หรือไม่มีก็ได้ตามความจำเป็น เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก วิธีการแต่ง ลักษณะการเดินเรื่อง การใช้ถ้อยคำ สำนวนในเรื่องท่วงทำนองการแต่ง วิธีคิดสร้างสรรค์ ทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียน เป็นต้น
๒.๕ แนวคิด จุดมุ่งหมาย เจตนาของผู้เขียนที่ฝากไว้ในเรื่อง ซึ่งต้องวิเคราะห์ออกมาก
๒.๖ คุณค่าของวรรณกรรม โดยปกติแบ่งออกเป็น ๕ ด้านใหญ่ ๆ และกว้าง ๆ เพื่อความครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งผู้วิเคราะห์ต้องไปแยกหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับลักษณะ ของหนังสือที่จะวิเคราะห์นั้น ๆ ตามความเหมาะสม

๓. การวิเคราะห์คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม
ความหมายของการวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรม
การวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาองค์ประกอบทุกส่วน โดยวิธีแยกแยะรายละเอียดต่าง ๆ ตั้งแต่ถ้อยคำสำนวน การใช้คำ ใช้ประโยค ตลอดจนเนื้อเรื่องและแนวคิด ทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียนนั้น เมื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบได้แล้ว จึงวิจารณ์ต่อไป
การวิจารณ์ หมายถึง การพิจารณาเทคนิคหรือกลวิธีที่แสดงออกมานั้นให้เห็นว่าน่าคิด น่าสนใจ น่าติดตาม มีชั้นเชิงยอกย้อนหรือตรงไปตรงมา องค์ประกอบใดมีคุณค่า
น่าชมเชย องค์ประกอบใดน่าท้วงติงหรือบกพร่องอย่างไร การวิจารณ์สิ่งใดจึงต้องใช้ความรู้ มีเหตุผล มีหลักเกณฑ์ และมีความรอบคอบด้วย
การวิจารณ์งานประพันธ์ หมายถึง การพิจารณากลวิธีต่าง ๆ ทุกอย่างที่ปรากฏในงานเขียน ซึ่งผู้เขียนแสดงออกมาอย่างมีชั้นเชิง โดยผู้วิจารณ์จะต้องแสดงเหตุผลที่จะชมเชย หรือชี้ข้อบกพร่องใด ๆ ลงไป

วิธีวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์
ตามปกติแล้วเมื่อจะวิจารณ์สิ่งใด จำเป็นต้องเริ่มวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ให้เข้าใจ ชัดเจนเสียก่อนแล้วจึงวิจารณ์แสดงความเห็นออกมาอย่างมีเหตุผล ให้น่าคิด น่าฟังและ
เป็นคำวิจารณ์ที่น่าเชื่อถือได้
การวิจารณ์งานประพันธ์สำหรับผู้เรียนที่เริ่มต้นฝึกหัดใหม่ ๆ นั้น อาจต้องใช้เวลาฝึกหัด มากสักหน่อย อ่านตัวอย่างงานวิจารณ์ของผู้อื่นมาก ๆ และบ่อย ๆ จะช่วยได้มากทีเดียว เมื่อตัวเราเริ่มฝึกวิจารณ์งานเขียนใด ๆ อาจจะวิเคราะห์ไม่ดี มีเหตุผลน้อยเกินไป คนอื่นเขาไม่เห็นด้วย เราก็ควรย้อนกลับมาอ่านเขียนนั้น ๆ อีกครั้งแล้วพิจารณาเพิ่มเติม วิธีวิเคราะห์ วิจารณ์งานประพันธ์จึงมีลักษณะดังนี้

แผนภูมินี้แสดงขั้นตอนการวิเคราะห์และวิจารณ์ โดยเริ่มต้นที่ผู้อ่านไปอ่านงานวรรณกรรม เมื่ออ่านแล้วจึงวิเคราะห์แยกแยะดูองค์ประกอบต่าง ๆ ลำดับต่อไปนี้จึงวิจารณ์กลวิธีการ
นำเสนอ ว่าน่าสนใจหรือไม่เพียงใด แล้วผู้วิจารณ์จึงเรียบเรียงความคิดเห็นแสดงออกมาด้วยวิธีพูด หรือเขียนวิจารณ์อย่างมีเหตุผล ลูกศรด้านใต้ที่ย้อนกลับมาสู่ผู้อ่านอีกนั้นหมายความว่า แม้นว่า การวิจารณ์จะสิ้นสุดแล้ว แต่ผู้อ่านก็ยังย้อนกลับมาสนใจงานประพันธ์ชิ้นเดิม แล้วเริ่มต้นวิเคราะห์วิจารณ์ใหม่ได้อีกตลอดเวลา

ประเด็นที่ใช้ในการวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าของงานวรรณคดีและวรรณกรรม
การวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์เท่าที่พบเห็นทั่ว ๆ ไป นักวิจารณ์นิยมพิจารณากว้าง ๆ ๔ ประเด็น
๑) คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ ความรู้สึกและจินตนาการตามรส ความหมายของถ้อยคำและภาษาที่ผู้แต่งเลือกใช้
เพื่อให้มีความหมายกระทบใจผู้อ่าน
๒) คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิดและกลวิธีนำเสนอทั้ง ๒ ประเด็นนี้ จะอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบพอเข้าใจ โดยจะกล่าวควบกันไปทั้งการวิเคราะห์และการวิจารณ์
๓) คุณค่าด้านสังคม วรรณคดีและวรรณกรรมจะสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมและวรรณคดีที่ดีสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย
๔) การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันผู้อ่านสามารถนำแนวคิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่านไปประยุกต์ใช้หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้

๓.๑ การพิจารณาคุณค่าด้านวรรณศิลป์
วรรณศิลป์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญซึ่งช่วยส่งเสริมให้วรรณกรรมมีคุณค่าน่าสนใจ คำว่า “วรรณศิลป์” หมายถึง ลักษณะดีเด่นทางด้านวิธีแต่ง การเลือกใช้ถ้อยคำ สำนวน ลีลา
ประโยค และความเรียงต่าง ๆ ที่ประณีต งดงาม หรือมีรสชาติเหมาะสมกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างดี วรรณกรรมที่ใช้วรรณศิลป์ชั้นสูงนั้นจะทำให้คนอ่านได้รับผลในทางอารมณ์ความรู้สึก
เช่น เกิดความสดชื่น เบิกบาน ขบขัน เพลิดเพลิน ขบคิด เศร้าโศก ปลุกใจ หรืออารมณ์อะไร ก็ตามที่ผู้เขียนต้องการสร้างให้เกิดขึ้นในตัวผู้อ่าน นั่นคือ วรรณศิลป์ในงานเขียน ทำให้ผู้อ่าน เกิดความรู้สึกในจิตใจและเกิดจินตนาการสร้างภาพคิดในสมองได้ดี
การวิเคราะห์งานประพันธ์จึงควรพิจารณาวรรณศิลป์เป็นอันดับแรกแล้วจึงวิจารณ์ว่ามีคุณค่าหรือน่าสนใจเพียงใดหากงานประพันธ์นั้นเป็นประเภทบทร้อยกรอง ผู้อ่านที่จะ
วิเคราะห์วิจารณ์ ควรมีความรู้บางอย่าง เช่น รู้บังคับการแต่งบทร้อยกรองรู้วิธีใช้ภาษาของกวี รู้วิธีสร้างภาพฝันหรือความคิดของกวี เป็นต้น ความรู้ดังกล่าวนี้จะช่วยให้เข้าใจบทร้อยกรอง
ได้มากขึ้น
ลองอ่านบทร้อยกรองง่าย ๆ สักเรื่องหนึ่ง เพื่อทดลองวิเคราะห์วิจารณ์กัน

เรื่องวอนขอ...

เมื่อเรายังเล็กเป็นเด็กน้อย
เคยกล่าวถ้อยวอนจันทราว่าให้สม

ขอข้าวแก … แหวน .. ให้น้องปองนิยม
ขอเตียงตั่งนั่งชมดาวและเดือน

เมื่อเห็นดาวล้อมเดือนกลาดเกลื่อนฟ้า
ชวนน้องนับดาราที่เป็นเพื่อน

ระยับระยิบพริบตาดาวพร่าเลือน
แต่ดวงเดือนเด่นสว่างกลางโพยม

อยากตะกายว่ายฟ้าไปหาจันทร์
และใฝ่ฝันอยากเอื้อมให้ถึงโสม

เคยนึกตามใจชอบปลอบประโลม
ว่าเติบใหญ่จะได้โคมรัตติกาล

ฝันไปตามอารมณ์ผสมโง
่ว่าเติบโตจะบินไปด้วยใจหาญ

สอยดวงดาวพราวฟ้ามาเป็นยาน
พาเราผ่านเมฆด้นจนถึงจันทร์


(บทกวีเรื่อง วอนขอ ของ กุลทรัพย์ รุ่งฤดี)
(โพยม = ท้องฟ้า, โสม = ดวงจันทร์, รัตติกาล = กลางคืน)

วิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าด้านวรรณศิลป์
บทร้อยกรองนี้วิเคราะห์ได้ว่า เป็นกลอนสุภาพจำนวน ๔ บท เนื้อความกล่าวถึงตัวผู้เขียน เมื่อเป็นเด็กเคยวอนขอสิ่งต่าง ๆ จากดวงจันทร์และอยากไปให้ถึงดวงจันทร์ ผู้เขียนใช้ถ้อยคำ แสดงภาพความฝันอย่างง่าย ๆ แต่ให้ความรู้สึกน่ารัก สวยงาม เช่น ดาวล้อมเดือน ระยับระยิบเด่นสว่าง ตะกายว่ายฟ้า ดวงดาวพราวฟ้า ผ่านเมฆ เป็นต้น ลีลาการเขียนเช่นนี้วิจารณ์ได้ว่า สร้างอารมณ์คนอ่านได้ดี ชวนให้คิดถึงดวงจันทร์ ดวงดาวที่กลาดเกลื่อนอยู่บนท้องฟ้ายามค่ำคืน
บทร้อยกรองที่ใช้ถ้อยคำช่วยสร้างความรู้สึกและมีเนื้อหาสร้างสรรค์จินตนาการได้เช่นนี้ เรียกว่า “วรรณศิลป์”
ถ้าเราเขียนรูปภาพได้ ลองเขียนภาพฝันตามจินตนาการของกวีไปด้วยก็ได้

๓.๒ การวิจารณ์คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิด และกลวิธีนำเสนอ
งานประพันธ์ที่มีคุณค่าน่าสนใจนั้น นอกจากจะมีวิธีใช้ถ้อยคำภาษาและแสดงชั้นเชิง การแต่งอย่างดีแล้ว ยังต้องวิเคราะห์ถึงเนื้อหาสาระและแนวความคิดที่มีประโยชน์ต่อ
คนอ่านอีกด้วย เนื้อหาสาระที่ดีนั้นอาจเป็นในแง่การให้ความรู้ ให้ความคิดเห็น คติ คำสอน ข้อเตือนใจ ชี้ช่องให้มองเห็นความจริง ความดี ชี้ทางแก้ปัญหา แนะสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือ สิ่งที่ควรละเว้น กลวิธีการเขียนอาจชี้แนะโดยตรงหรือทางอ้อมก็ได้แล้วแต่กลวิธีของผู้เขียน ว่าจะทำได้แนบเนียนน่าสนใจเพียงใด
ข้อที่น่าสังเกตคือ งานเขียนที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องสอนศีลธรรมหรือคุณธรรมโดยตรง ผู้เขียนอาจใช้กลวิธีต่าง ๆ เพื่อให้คนอ่านเกิดความคิดได้ด้วยตนเอง ดังนั้นก่อนการวิจารณ์
คนอ่านจึงต้องพยายามทำความเข้าใจ จับความหมายและสรุปแนวความคิดทั้งหลายของผู้เขียนให้ได้เสียก่อน
หลักสำคัญมีอยู่อย่างหนึ่งว่า งานประพันธ์ที่ดีควรมีเนื้อหาสาระมุ่งสร้างสรรค์ มิใช่มุ่งทำลาย คราวนี้ลองอ่านบทร้อยกรองอีก ๑ เรื่อง ได้สร้างภาพการ์ตูนเป็นภาพคิดประกอบ เรื่องไว้ให้เรียบร้อยแล้ว

ฉันเป็นหนี้ดอกจำปาของตาพลอย
ตั้งแต่น้อยยังนึกรำลึกได้

ขอเล่าสู่คุณครูผู้ร่วมใจ
ว่าดอกไม้มีอำนาจดลบันดาล

คุณยายฉันท่านพาไปฟังเทศน์
ธรรมวิเศษแสนสุดพุทธบรรหาร

ฉันไม่รู้รสธรรมล้ำโอฬาร
ที่พระท่านเทศนาว่าอย่างไร

เพราะตัวฉันยังเด็กยังเล็กนัก
จะรู้จักรสพระธรรมได้ไฉน

ที่ฉันไปฟังเทศน์ทุกคราวไป
เพราะฉันอยากได้ดอกจำปาของตาพลอย

ตาพลอยดีมีจำปาบูชาพระ
เด็กเด็กจะแย่งกันลาอยู่บ่อยบ่อย

ดอกไม้อื่นดื่นไปมีไม่น้อย
แต่ไม่ค่อยถูกใจใช่จำปา

เด็กรุ่นฉันพากันไปฟังเทศน์
ก็เพราะเหตุอย่างเดียวจะเทียวหา

ดอกไม้ของตาพลอยเพื่อคอยลา
ต่างตั้งท่าแย่งกันทุกวันไป

ดอกจำปาล่อใจให้เป็นเหตุ
ฉันคงไปฟังเทศน์หาหยุดไม่

ยิ่งนานวันพลันค่อยเจริญวัย
ยิ่งเข้าใจธรรมซึ้งขึ้นทุกที

พุทธประวัติชาดกท่านยกมาอ้าง
ความคิดกว้างเห็นงามตามวิถี

รสพระธรรมนำใจให้ใฝ่ดี
ฉันเป็นหนี้ดอกจำปาของตาพลอย


(เรื่อง “ดอกจำปาของตาพลอย” ของเจือ สตะเวทิน)

วิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิดและกลวิธีนำเสนอ
กลอนสุภาพทั้ง ๗ บทนี้ เนื้อหาเป็นเรื่องราวในวัยเด็กของผู้เขียนเล่าถึงการตามคุณยายไปฟังเทศน์เพราะอยากได้ดอกไม้ คือ ดอกจำปา ครั้นไปฟังเทศน์บ่อยเข้า ทำให้เข้าใจคำสอน
ต่าง ๆ จึงเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นคนดี นับได้ว่าดอกจำปาเป็นดอกไม้ที่มีคุณค่าต่อชีวิต
บทร้อยกรองเรื่องนี้ ในแง่วรรณศิลป์จะเห็นว่าใช้ถ้อยคำง่าย ๆ อ่านเข้าใจดี การลำดับเนื้อเรื่อง เรียงลำดับไม่สับสน เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาพบว่ากล่าวถึงความดีของรสพระธรรม
คำสอน และให้ข้อเตือนใจแก่ผู้อ่านคือไม่ให้มองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยให้เราได้รับ ผลตอบแทนในทางที่ดีงาม บทร้อยกรองลักษณะนี้จึงวิจารณ์โดยสรุปได้ว่าดีพร้อมทั้งจินตนาการภาพคิดและเนื้อหาสาระเตือนใจ นับว่ามีคุณค่าต่อผู้อ่านเป็นอย่างมาก

๓.๓ การพิจารณาคุณค่าด้านสังคม
การพิจารณาคุณค่าด้านสังคมจากวรรณกรรม ผู้อ่านต้องค้นหาสาระก่อนว่าผู้เขียน ต้องการเสนอ “สาระ” อะไรให้กับผู้อ่านเป็นด้านดีหรือด้านเสียของสังคมและผู้อ่าน ต้องพิจารณาว่า พึงปฏิบัติอย่างไร หรือได้แนวคิดอะไรบ้างจากการอ่านวรรณกรรมนั้น
วรรณกรรมทุกเรื่องจะสะท้อนภาพชีวิตและสังคม ตัวอย่างเช่น วรรณกรรมเรื่องน้ำพุจะสะท้อนภาพสังคมวัยรุ่นที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จนเสียชีวิตในที่สุด

๓.๔ การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
งานประพันธ์ย่อมประกอบด้วยถ้อยคำ เนื้อหาสาระและกลวิธีการเขียนแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำงานประพันธ์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ในแง่จดจำถ้อยคำสำนวนไปใช้
้เพื่อความสนุกสนาน ความไพเราะ ส่วนเนื้อหาสาระอาจนำไปใช้ในแง่ได้คติข้อเตือนใจ ได้ความคิดเห็นที่มีประโยชน์ต่อชีวิต ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ
การนำคุณค่าของงานประพันธ์ไปใช้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของผู้อ่าน ที่จะวิเคราะห์เพื่อเลือกจดจำ คิดและนำไปใช้ตามกำลังความคิดของตน
ตัวอย่างแนวการวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทร้อยกรอง
การอ่านอย่างวิเคราะห์จะสามารถแยกข้อดี-ข้อเสีย และประเมินค่าของวรรณกรรมได้ ซึ่งผู้อ่านควรวิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. รูปแบบการประพันธ์หรือฉันทลักษณ์ในการแต่ง
๒. ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง
๓. ความไพเราะ
๔. สาระของเนื้อหา
๑) รูปแบบการประพันธ์หรือฉันทลักษณ์ในการแต่ง
ฉันทลักษณ์เป็นกฎข้อบังคับในการประพันธ์ เช่น โคลงสี่สุภาพบังคับว่า ต้องใช้คำที่มีวรรณยุกต์เอก วรรณยุกต์โทตามตำแหน่งที่กำหนด ฉันท์กำหนดเสียงหนักเบา (ครุ-ลหุ)
และคำประพันธ์ทุกประเภทบังคับการส่งสัมผัสตามตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้ เป็นต้น ฉันทลักษณ์ เป็นระเบียบข้อบังคับ ถ้าไม่ปฏิบัติตามถือว่าผิด การพิจารณาวรรณกรรมร้อยกรองเกือบ
ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ฉันทลักษณ์ เพราะผู้ประพันธ์จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว
๒) ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง
คือกลวิธีในการประพันธ์ที่นิยมกันว่าดีงามและถือปฏิบัติสืบต่อกันมา บทประพันธ์ที่ไม่ สอดคล้องกับธรรมเนียมนิยมไม่ถือว่าผิดหากแต่จะเป็นคำประพันธ์ที่ไม่งามสมบูรณ์ในความ
นิยมของผู้อ่าน
๑. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและการเลือกใช้คำประพันธ์ประเภทโคลง โคลงนิยมใช้คำที่มีน้ำหนักศัพท์ค่อนข้างสูง บางคำเป็นศัพท์เก่า บางคำใช้คำศัพท์แผลง บางครั้ง
ตอนเสียง คำหน้าเป็นเสียงอะ กวีบางคนนิยมใช้คำภาษาถิ่น กลวิธีการแต่งโคลงที่นิยมว่าไพเราะสืบมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบันมีมากมาย เช่น นิยมสัมผัสอักษร นิยมซ้ำคำ ในที่บางแห่งนิยมเสียงสูงท้ายวรรคสุดท้าย เป็นต้น

ตัวอย่าง โคลงสี่สุภาพต่อไปนี้ แสดงให้ธรรมเนียมในการแต่งหลายลักษณะ เช่น

โฉมควรจักฝากฟ้า ฤาดิน ดีฤา
เกรงเทพไท้ธรณินทร์ ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน บนเล่า นะแม่
ลมจะชายชักช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน
(โคลงนิราชนรินทร์)


๒. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและเลือกใช้คำประพันธ์ประเภทฉันท์ นิยมใช้ คำศัพท์สูง ได้แก่ คำโบราณ คำบาลี-สันสกฤต คำแผลง เป็นต้น กวีจะเลือกใช้คำฉันท์
์สำหรับเรื่องราวที่เป็นแบบแผนสูงส่งและสง่างาม เช่น คำบูชาพระรัตนตรัย คำบูชาพระเจ้า และบทสวดต่าง ๆ ส่วนเนื้อหาที่เป็นเรื่องราว เช่น นิทาน กวีจะเลือกเรื่องสำคัญที่เห็นว่า
ศักดิ์สิทธิ์ และสูงส่ง เช่น เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นต้น นอกจากนี้ ฉันท์แต่ละชนิด ยังมีลักษณะเหมาะสมกับการพรรณนาเฉพาะเรื่องอารมณ์ของตัวละคร และบรรยากาศอีกด้วย กวีได้ถือเป็นธรรมเนียมนิยมปฏิบัติสืบกันมา เช่น สัททุลวิกกิฬิตฉันท์ เหมาะสำหรับใช้เป็นบทไหว้ครูหรือยอพระเกียรติ

ตัวอย่าง อินทรวิเชียรฉันท์เหมาะสำหรับการพรรณนา ความอ่อนช้อยงดงาม เช่น

สายัณห์ตะวันยาม ขณะข้ามทิฆัมพร

เช้าภาคนภาตอน ทิศะตกก็รำไร

รอน ๆ และอ่อนแรง นภาแดงสิแปลงไป

เป็นครามอร่ามใส สุภะสดพิสุทธิ์สี

เรื่อ ๆ ณ เมื่อรัต ติจะผลัดก็พลันมี

มืดมามิช้าที ศศิธรจะจรแทน

(ณ หาดทรายชายทะเลแห่งหนึ่ง ของชิต บุรทัต)

๓. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและการเลือกใช้คำในการแต่งกาพย์
การแต่งกาพย์มักใช้คำพื้น ๆ ธรรมดา หากเรื่องที่มีโครงเรื่อง เนื้อเรื่องที่แต่งก็ไม่สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์เหมือนเรื่องที่แต่งเป็นคำฉันท์ กวีสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่งนิทานเป็นคำกลอน เช่น กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา เป็นต้น บางครั้งกวีใช้กาพย์และฉันท์แต่งปนกันในวรรณกรรม เรื่องเดียว โดยเลือกใช้กาพย์สำหรับบทพรรณนา สภาพเหตุการณ์ สภาพบ้านเมือง เป็นต้น
๔. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งร่าย
มีธรรมเนียมคล้ายกาพย์และโคลง แต่ไม่นิยมแต่งร่ายทั้งเรื่อง ใช้แต่งประกอบกับโคลง นอกจากร่ายยาวทำนองเทศน์เท่านั้นที่แต่งด้วยร่ายตลอดทั้งเรื่อง
๕. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและการเลือกใช้คำในการแต่งกลอน
นิยมใช้คำพื้น ๆ ธรรมดา บางครั้งกวีพลิกแพลง การใช้คำให้พิสดารเพื่อให้กลอนมีรสชาติ เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น การเล่นคำ การส่งสัมผัสด้วยคำตาย กลอนกลบทต่าง ๆ เป็นต้น



ตัวอย่าง “จะว่าโศกโศกอะไรที่ในโลก ก็ไม่โศกใจหนักเหมือนรักสมร

จะว่าหนักหนักอะไรในดินดอน ถึงสิงขรก็ไม่หนักเหมือนรักกัน”

๓) ความไพเราะของวรรณกรรมร้อยกรอง
ความไพเราะของวรรณกรรมร้อยกรองขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ที่ควรพิจารณามีดังนี้
๑. การเลือกสรรคำมาใช้
เลือกคำที่มีเสียงเสนาะ คือ คำที่จะใช้แฝงลีลา จังหวะอ่อนเนิบ นิ่มนวลหรือเร่งเร้า รุนแรง ตามที่กวีต้องการร่ายทอดอารมณ์หรือบรรยากาศออกมาสู่ผู้อ่าน

ตัวอย่าง บรรยากาศที่สวยเงียบ นิ่มนวล แฝงลีลาอ่อนโยนชวนเคลิบเคลิ้ม

“หนาวอารมณ์เรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร

แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง”

ตัวอย่าง บรรยากาศหรืออารมณ์ที่รุ่มร้อน รุนแรง กวีก็เลือกใช้คำและลีลาที่ แข็งกร้าว

เอออุเหม่นะมึงชิช่างกระไร ทุทาสสถุลฉะนี้ไฉน ก็มาเป็น

ศึกบ่ถึงและมึงก็ยังมิเห็น จะน้อยจะมากจะยากจะเย็น ประการใด

อวดฉลาดและคาดแถลงเพราะใจ ขยาดขยั้นมิทันอะไร ก็หมิ่นกู

(สามัคคีเภทคำฉันท์)

ก. การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงหรือเห็นภาพ ทำให้เกิดความไพเราะและสะเทือนอารมณ์ตามไปด้วย เช่น

ตัวอย่าง ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่

ออดแอดแอดออดยอดไกว แพใบไล้น้ำลำคลอง

(คำหยาด – เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)


ข. ใช้คำน้อยแต่กินความมาก เป็นการกล่าวอย่างกระชับ แต่มีเจตนาจะให้สื่อ ความหมายคลุมกว้างขวางออกไปยิ่งกว่าที่กล่าวไว้นั้น เช่น

ตัวอย่าง “อันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ”


คำว่าของสูง มีความหมายตามศัพท์ หมายถึง สิ่งที่อยู่สูง ๆ แต่เจตนาของผู้ส่งสาร มีความหมายกว้างออกไปอีก หมายถึง สิ่งที่สูงค่ายิ่ง
คำว่าปีนป่าย มีความหมายตามศัพท์ หมายถึง การไต่ไปสู่ที่สูง แต่เจตนาของผู้ส่งสาร มีความหมายกว้างออกไปอีก หมายถึง ความพยายาม ความมุ่งมั่น อดทน ต่อสู้อย่าง
ไม่ย่อท้อ
ค. การเล่นคำ คือการนำคำพ้องรูปพ้องเสียง มาร้อยกรองเข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดเสียงไพเราะน่าฟัง ถ้านำมาใช้ในบทพรรณนา หรือบทคร่ำครวญ ก็จะทำให้เกิดความสะเทือน อารมณ์ เช่น

ตัวอย่าง รอนรอนสุริยะโอ้ อัสดง

เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง ค่ำแล้ว

รอนรอนจิตจำนง นุชพี่ เพียงแม่

(กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง)

ง. การใช้คำอัพภาส คือ การซ้ำคำชนิดหนึ่ง โดยใช้พยัญชนะซ้ำเข้าไปข้างหน้า เช่น ริก เป็นระริก ยิ้ม เป็น ยะยิ้ม แย้ม เป็น ยะแย้ม เช่น

ตัวอย่าง “เพื่อชื่นชมรมณีย์กับชีวิต
ที่จะคิดที่จะทำตามคิดเห็น
ระเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉ่ำลืมลำเค็ญ
ลืมความเป็นปรัศนีย์ขอชีวิต”
(วารีดุริยางค์ ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)


จ. การเล่นเสียงวรรณยุกต์ คือ การนำคำที่มีพยัญชนะต้น สระ ตัวสะกดอย่างเดียวกัน แต่ต่างวรรณยุกต์กัน นำมาเรียงไว้ใกล้กัน ทำให้เกิดเสียงไพเราะดุจดนตรี เช่น

ตัวอย่าง “สกัดไดใดสกัดน้อง แหนงนอนไพรฤา

เพราะเพื่อมาราญรอนเศิกไซร้

สละสละสมร เสมอชื่อ ไม้นา

นึกระกำนามไม้เหม่นแม้นทรวงเรียม”

(ลิลิตตะเลงพ่าย)

ฉ. การสัมผัสอักษร - สัมผัสสระ
สัมผัสอักษร หมายถึง การนำคำที่มีเสียงพยัญชนะเดียวกันมาเรียบเรียงไว้ใกล้กัน
สัมผัสสระ หมายถึง การสัมผัสของคำที่มีเสียงสระเดียวกัน เช่น

๒. กวีโวหารและสำนวนโวหาร
การใช้กวีโวหารและสำนวนโวหารจะช่วยสร้างความไพเราะ ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในจิตหรือจินตภาพขึ้น ผู้แต่งอาจกล่าวอย่างตรงไปตรงมา หรือกล่าวเป็นโวหารภาพพจน์
ก็ได้ ซึ่งอาจใช้ได้หลายลักษณะ ดังนี้
ก. การเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย อาจทำได้ ๒ วิธีคือ
วิธีที่ ๑ การเปรียบสิ่งหนึ่งเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีคำแสดงความหมาย อย่างเดียวกันกับคำว่าเหมือน ปรากฏว่า ได้แก่คำว่า เสมือน เปรียบเหมือน ดุจ ประดุจ ดั่ง
ดุจดัง เพียง ราว เป็นต้น

ตัวอย่าง "แม้มีความรู้ดั่ง สัพทัญญู

ผิบ่มีคนชู ห่อนขึ้น"

"ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน

ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคคะใดใด"


วิธีที่ ๒ การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มักจะมีคำว่า คือ หรือ เป็น ปรากฏ อยู่ เช่น

ตัวอย่าง “เงินตราหรือคือกระดาษ ผู้สร้างขึ้นมาซิอนาถ หลงใหลเป็นทาสอำนาจเงิน”

แม้เธอเป็นดวงดารา ฉันจะเป็นฟ้ายามราตรีกาล”

ขอกายเจ้าจงเป็นเช่นต้นไม้ ยืนอยู่ได้โดยภพสงบนิ่ง

เพื่อแผ่ร่มเป็นหลักให้พักพิง แต่งดอกพริ้งผลัดฤดูอยู่ชั่วกาล”

ข. การใช้บุคลาธิษฐาน หมายถึง การสมมุติสิ่งต่าง ๆ ให้มีกิริยาอาการของมนุษย์ เช่น

ตัวอย่าง “มองซิมองทะเลเห็นลมคลื่นเห่จูบหิน บางครั้งมันบ้าบิ่นกระแทกหินดังครืน ๆ

หางนกยูงระย้าเรี่ยคลอเคลียน้ำ แพนดอกฉ่ำช้อยช่อวรวิจิตร”

ค. การใช้สัญลักษณ์หรือสิ่งแทนสัญลักษณ์ หมายถึง สิ่งหนึ่งที่ใช้แทนอีกสิ่งหนึ่ง

ตัวอย่าง สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ ความไร้เดียงสา

สีดำ หมายถึง ความตาย ความโศกเศร้า ความชั่วร้าย

ดอกกุหลาบ หมายถึง ความรัก ความสดชื่น

เมฆหมอกหมายถึง อุปสรรค ความเศร้า

นกขมิ้น หมายถึง คนร่อนเร่พเนจร


ง. การกล่าวเท็จ (อธิพจน์)เป็นการเน้นความรู้สึกบางอย่างให้ชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความแปลก และเรียกร้องความสนใจได้ดี


ตัวอย่าง “ถึงโลกแตกแหลกเป็นผงคลี รักเต็มปรี่ไม่มีรู้คลาย”

“จะเอาโลกมาทำปากกา จะเอานภามาแทนกระดาษ

เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอ”

จ. การใช้โวหารปฏิพากย์ (โวหารขัดแย้ง) คือ การนำคำที่มีความหมายขัดแย้งกันมาเรียงต่อกัน

ตัวอย่าง “ความหวานชื่นอันขมขื่น”
“ใกล้หัวใจแต่ไกลสุดฟ้า”
“ในความมืดอันเวิ้งว้างสว่างไสว …..”


๔) สาระของเนื้อหา
สาระของวรรณกรรม คือ ประโยชน์อันเป็นผลพลอยได้ที่ได้รับจากวรรณกรรม นอกเหนือจากความบันเทิงใจ

๑. แนวคิดและค่านิยมจากวรรณกรรม
แนวคิดที่ปรากฏในวรรณกรรม หมายถึง ความคิดสำคัญของเรื่องที่ให้ประโยชน์ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแก่มนุษยชาติและสังคม เช่น แนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องบุญกรรม ความรักชาติ ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์ เป็นต้น

ตัวอย่าง สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน

กินกัดเนื้อเหล็กจน กร่อนขร้ำ

บาปเกิดแต่ตนคนเป็นบาป

บาปย่อมทำโทษซ้ำใส่ผู้บาปเอง


(โคลงโลกนิติ)


โคลงบทนี้แสดงแนวคิดว่า ผลของความชั่วเป็นสิ่งร้ายกาจ ทำลายผู้ประพฤติชั่ว เหมือนสนิมที่กัดกินเนื้อเหล็กจนกร่อนผุ ผู้ที่ทำบาปทำชั่วก็จะเป็นโทษภัยแก่ผู้นั้นเอง
ค่านิยม หมายถึง ความรู้สึก ความคิด หรือความเชื่อของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เชื่อว่า มีความหมายหรือมีความสำคัญต่อตนหรือกลุ่มของคน ค่านิยมจะเป็นตัวกำหนด พฤติกรรมแบบแผนการดำเนินชีวิตของบุคคล เช่น ค่านิยมเรื่องการทำบุญทำทาน การชอบ ความสนุกสนานรื่นเริง การนิยมใช้ของต่างประเทศ ความจงรักภักดีต่อชาติ ฯลฯ

๒. สาระด้านหลักฐานความเป็นจริง
เนื้อหาที่เป็นหลักฐาน ทำให้ผู้อ่านได้ทราบความจริงเกี่ยวกับความ เปลี่ยนแปลง ทุก ๆ ทางของสังคม ค่านิยมและทัศนะของบุคคลในสมัยที่วรรณกรรม เรื่องนั้นเกิดขึ้น เช่น ในเสภาขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงพิธีโกนจุกว่า


ตัวอย่าง “ทองประศรีดีใจได้ฤกษ์ยาม ได้สิบสามปีแล้วหลานแก้วกู

จะโกนจุกสุกดิบขึ้นสิบค่ำ แกทำน้ำยาจีนต้มตีนหมู

พวกเพื่อนบ้านวานมาผ่าหมากพลู บ้างปัดปูเสื่อสาดลาดพรมเจียม

ทั้งหม้อเงินหม้อทองสำรองตั้ง มีทั้งสังข์ใส่น้ำมนต์ไว้จนเปี่ยม

อัฒจันทร์ชั้นพระก็ตระเตรียม ตามธรรมเนียมฆ้องกลองฉลองทาน”

ตัวอย่างแนวการวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทร้อยแก้ว
วรรณกรรมประเภทร้อยแก้วในปัจจุบันที่น่าสนใจ ได้แก่ เรื่องสั้น นวนิยาย และสารคดี วรรณกรรมเหล่านี้มีองค์ประกอบต่างกัน ผู้อ่านจำเป็นต้องทราบองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อที่จะพิจารณาวรรณกรรมได้อย่างละเอียด และได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

การอ่านและวิเคราะห์นวนิยาย
คำว่า “นวนิยาย” (Novel) หมายถึง หนังสือที่เขียนเป็นร้อยแก้ว เล่าถึงชีวิตในแง่ต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น ด้านความคิด ความประพฤติและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต จริงของมนุษย์ ชื่อคน หรือพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นเรื่องสมมติทั้งสิ้น นวนิยายแบ่งเป็น ๖ ประเภท ดังนี้
๑. นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องผู้ชนะสิบทิศ (อิงประวัติศาสตร์มอญ) ซูสีไทเฮา (อิงประวัติศาสตร์จีน) สี่แผ่นดิน (อิงประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน
รัชกาลที่ ๕-๘) กระท่อมน้อยของลุงทอม (อิงประวัติศาสตร์อเมริกา)
๒. นวนิยายวิทยาศาสตร์ คือ นวนิยายที่นำความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ มาเขียนเป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น เช่น กาเหว่าที่บางเพลง สตาร์วอร์ (Star war)
มนุษย์พระจันทร์ มนุษย์ล่องหน เป็นต้น
๓. นวนิยายลึกลับ ฆาตกรรม นักสืบ สายลับ เช่น เรื่องเชอร์ลอกโฮม มฤตยูยอดรัก
๔. นวนิยายเกี่ยวกับภูติผีปิศาจ เช่น แม่นาคพระโขนง กระสือ ศีรษะมาร เป็นต้น
๕. นวนิยายการเมือง คือ นวนิยายที่นำความรู้ทางการเมืองการปกครอง มาเขียนเป็นเนื้อเรื่อง เช่น เรื่องไผ่แดง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เปาปุ้นจิ้น สามก๊ก สารวัตรใหญ่ เป็นต้น
๖. นวนิยายด้านสังคมศาสตร์ คือ นวนิยายที่จะสะท้อนสภาพสังคม เช่น เรื่องเมียน้อย เสียดาย เพลิงบุญ เกมเกียรติยศ นางทาส เป็นต้น

องค์ประกอบของนวนิยาย
นวนิยายแต่ละเรื่องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
๑. โครงเรื่อง (Plot) หมายถึง ขอบข่ายหรือโครงของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลกัน
๒. เนื้อเรื่อง (Story) หมายถึง เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผู้เขียนถ่ายทอดยกมาทำให้ ผู้อ่านทราบว่าเรื่องที่อ่านนั้นเป็นเรื่องราวของใคร เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร เมื่อใด มีเหตุการณ์ หรือความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครอย่างไร เรื่องเริ่มต้นอย่างไร ดำเนินไปอย่างไร และจบอย่างไร
๓. ฉาก (Setting) คือ สถานที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่องอาจเป็นประเทศ เมือง หมู่บ้าน ทุ่งนาในโรงภาพยนตร์ ฯลฯ
๔. แนวคิด (Theme) ผู้แต่งจะสอดแทรกแนวคิดไว้อย่างชัดเจนในคำพูด นิสัย พฤติกรรม หรือบทบาทของตัวละคร หรือพบได้ในการบรรยายเรื่อง
๕. ตัวละคร (Characters) ผู้แต่งเป็นผู้สร้างตัวละครขึ้นมา โดยตั้งชื่อให้ แล้วกำหนดรูปร่าง หน้าตา เพศ วัย นิสัยใจคอ บุคลิกภาพ ตลอดจนกำหนดบทบาท และ
โชคชะตาของตัวละครเหล่านั้นด้วย

หลักการอ่านและพิจารณานวนิยาย ดังนี้
๑. โครงเรื่องและเนื้อเรื่อง การแสดงเนื้อเรื่องคือการเล่าเรื่องนั่นเอง ทำให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นเรื่องราวของใคร เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร เมื่อใด มีเหตุการณ์อะไร ส่วนโครงเรื่องนั้น คือส่วนที่เน้นความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเป็นเหตุผลต่อเนื่องกัน
โครงเรื่องที่ดีมีลักษณะดังนี้
๑.๑ มีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องและระหว่างบุคคลในเรื่อง อย่างเกี่ยวเนื่องกันไปโดยตลอด
๑.๒ มีข้อขัดแย้งหรือปมของเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ความขัดแย้งของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม การต่อสู้ระหว่างอำนาจอย่างสูงกับอำนาจอย่างต่ำในจิตใจ การชิงรักหักสวาท ฯลฯ
ข้อขัดแย้งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาอย่างน่าสนใจ
๑.๓ มีการสร้างความสนใจใคร่รู้ตลอดไป (Suspense) คือการสร้างเรื่องให้ผู้อ่านสนใจใคร่รู้ อยากอ่านต่อ อาจทำได้หลายวิธี เช่น การปิดเรื่องที่ผู้อ่านต้องการทราบไว้ก่อน การบอกใบ้ให้ผู้อื่นทราบว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในตอนต่อไป การจบเรื่องแต่ละตอน ทิ้งปัญหาให้ผู้อ่านอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวต่อไป
๑.๔ มีความสมจริง (Realistic) คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล มิใช่เหตุประจวบหรือเหตุบังเอิญที่มีน้ำหนักเบาเกินไป เช่น คนกำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน
หาทางออกหลายอย่างแต่ไม่สำเร็จ บังเอิญถูกสลากกินแบ่งจึงพ้นความเดือดร้อนไปได้
๒. กลวิธีในการดำเนินเรื่อง จะช่วยให้เรื่องน่าสนใจและเกิดความประทับใจ ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น
๒.๑ ดำเนินเรื่องตามลำดับปฏิทิน คือเริ่มตั้งแต่ตัวละครเกิด เติบโตเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม สาว แก่ แล้วถึงแก่กรรม
๒.๒ ดำเนินเรื่องย้อนต้น เป็นการเล่าแบบกล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนท้ายก่อนแล้วย้อนกลับไปเล่าตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบ
๒.๓ ดำเนินเรื่องสลับไปมา คือการเริ่มเรื่องในตอนใดตอนหนึ่งก่อนก็ได้ เช่น อาจกล่าวถึงอดีตแล้วกลับมาปัจจุบันอีก หรือการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดต่างสถานที่สลับกันไปมา
ผู้อ่านควรพิจารณาว่ากลวิธีในการดำเนินเรื่องของผู้เขียนแต่ละแบบนั้นมีผลต่อเรื่องนั้นอย่างไร ทำให้เรื่องน่าสนใจชวนติดตาม และก่อให้เกิดความประทับใจหรือไม่ หรือว่าก่อให้เกิดความ
สับสน ยากต่อการติดตามอ่าน
๓. ตัวละคร ผู้อ่านสามารถพิจารณาตัวละครในนวนิยายในด้านต่อไปนี้
๓.๑ ลักษณะนิสัยของตัวละคร
๑) มีความสมจริงเหมือนคนธรรมดาทั่วไปคือ มีทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัวเอง ไม่ใช่ว่าดีจนหาที่ติไม่ได้ หรือเลวจนหาที่ชมไม่พบ
๒) มีการกระทำหรือพฤติกรรมที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของตน ไม่ประพฤติปฏิบัติในที่หนึ่งอย่างหนึ่งและอีกที่หนึ่งอย่างหนึ่ง
๓) การเปลี่ยนลักษณะนิสัยของตัวละครต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล
๓.๒ บทสนทนาของตัวละคร บทสนทนาที่ดีควรพิจารณา ดังนี้
๑) มีความสมจริง คือสร้างบทสนทนาให้สอดคล้องกับฐานะและลักษณะ ของตัวละครในเรื่อง
๒) มีส่วนช่วยให้เรื่องดำเนินต่อไปได้
๓) มีส่วนช่วยให้รู้จักตัวละครในด้านรูปร่างและนิสัยใจคอ
๔) มีส่วนช่วยให้เรื่องน่าอ่าน มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะบทสนทนาที่คมคาย หรือมีอารมณ์ขัน
๔. ฉาก หมายถึง สถานที่และเวลาที่เรื่องนั้น ๆ เกิดขึ้น มีหลักการพิจารณา ดังนี้
๔.๑ สอดคล้องกับเนื้อเรื่องและช่วยสร้างบรรยากาศ เช่น บ้านร้างมีใยแมงมุม จับอยู่ตามห้อง ฯลฯ น่าจะเป็นบ้านที่มีผีสิง คืนที่มีพายุฝนตกหนักน่าจะเป็นฉากสำหรับ ฆาตกรรม
๔.๒ ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง ฉากที่มีความถูกต้องตามสภาพภูมิศาสตร์ และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ จะช่วยเสริมให้นวนิยายเรื่องนั้นมีคุณค่าเพิ่มขึ้น
๕. สารัตถะหรือสารของเรื่อง หมายถึง แนวคิด จุดมุ่งหมายหรือทัศนะของผู้แต่งที่ต้องการสื่อมาถึงผู้อ่าน ผู้แต่งอาจจะบอกผู้อ่านตรง ๆ หรือให้ตัวละครเป็นผู้บอกหรือ อาจปรากฏที่ชื่อเรื่อง แต่โดยมากแล้วผู้แต่งจะไม่บอกตรง ๆ ผู้อ่านต้องค้นหาสาระของเรื่องเอง เช่น เรื่องผู้ดีของดอกไม้สดต้องการแสดงว่า ผู้ดีนั้นมีความหมายอย่างไร เรื่องจดหมาย จากเมืองไทย ของโบตั๋น ต้องการแสดงให้เห็นข้อดีข้อเสียของคนไทย โดยเฉพาะน้ำใจ ซึ่งคนชาติอื่นไม่มีเหมือน
นวนิยายที่ดีจะต้องมีสารัตถะของเรื่องและมีคุณค่าต่อผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


สรุป
การอ่านหนังสือทุกประเภท ทั้งประเภทวรรณคดี วรรณกรรมไทยปัจจุบัน และวรรณกรรมท้องถิ่น ต้องอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ คิดพิจารณาแยกแยะหาเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย คุณ โทษ เพื่อประเมินคุณค่าแล้วนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการเรียนในชีวิตจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น