วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

อิทธิพลของภาษาต่างประเทศในภาษาไทย

 สาเหตุที่ทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทย  ไดแก่  สภาพทางภูมิศาสตร์ คือการมีอาณาเขตใกล้เคียงกัน  ทำให้มีการติดต่อสื่อสารกัน โดยการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ การติดต่อค้าขายระหว่างกัน และการรับเอาวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ และความคิดความเชื่อทางศาสนา จึงมีการยืมคำในภาษาต่าง ๆ  มาใช้มากมาย เช่น  ภาษาเขมร จีน พม่า ชวา มลายู อังกฤษเป็นต้น
คำยืมจากภาษาเขมร   
           ไทยกับเขมรมีความสัมพันธ์กันมานับพันปี ต่างถ่ายทอดวัฒนธรรมและอารยธรรมซึ่งกันและกัน ในสมัยโบราณ  ไทยรับเอา “อักษรขอมบรรจงและขอมหวัด”  มาใช้  ไทยถือว่าศักดิ์สิทธิ์  จึงมักบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาลงบนแผ่นหิน ใบลานใช้ตัวอักษรขอมเขียนคาถาอาคมต่าง ๆ ปรากฏตามพระพิมพ์  เหรียญพระเครื่อง  ตะกรุด  ผ้ายันต์ต่าง ๆ 
คำยืมจากภาษาจีน   
           ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันทางการทูตและการค้าขายมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยสืบมาจนถึงปัจจุบัน ชาวไทยมาทำมาหากินในประเทศไทย  แต่งงานกับคนไทยจนกลายเป็นพลเมืองไทย เชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก  มีการผสมทางด้านวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ตลอดมา  คำยืมในภาษาจีนส่วนใหญ่เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว   มักเป็นคำเรียกสิ่งของเครื่องใช้ อาหาร พืช ผัก ผลไม้ รวมทั้งคำที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน ไทยนิยมนำคำจากภาษาจีนมาใช้ในภาษาพูด ไม่นิยมใช้ในภาษาเขียน
คำยืมจากภาษาอังกฤษ
            คนในโลกยอมรับภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางและนิยมใช้กันมากที่สุด ไทยเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกที่พูดภาษาอังกฤษมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยทางการค้า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๕ ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีทูตจากประเทศทางตะวันตกมาเจรจาเรื่องการค้ากับรัฐบาลไทย  พ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ  Hunter  เข้ามาค้าขายเป็นคนแรกในกรุงเทพฯ  
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีคณะทูตสอนศาสนาเข้ามา และได้นำวิทยาการใหม่ ๆ เช่น  การพิมพ์ การแพทย์ เข้ามาเผยแพร่  คำภาษาอังกฤษจึงเริ่มปรากฏในเอกสารภาษาไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ มากมาย  เช่น ชื่อชนชาติ ชื่อบุคคล ชื่อยศ, บรรดาศักดิ์ ชื่อประเทศ ชื่อเมือง ชื่อศาสนา เป็นต้น
           ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีคำยืมภาษาอังกฤษปรากฏมากขึ้นในเอกสารประเภทจดหมายเหตุ พระราชหัตถเลขา  พงศาวดาร และคำสามัญ  คำเรียกเครื่องมือเครื่องใช้ เรียกทะเลมหาสมุทรก็มากขึ้นด้วย  
            สมัยรัชกาลที่ ๕ ภาษาอังกฤษขยายวงกว้างออกไปสู่ประชาชน เพราะมีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษและวิชาการต่าง ๆ มีศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ พฤกษศาตร์ สัตวศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย
            หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  คำยืมภาษาอังกฤษหลั่งไหลเข้ามาในภาไทยอย่างกว้างขวาง  เพราะมีนักเรียนไทยไปเรียนศึกษาในประเทศแถบยุโรป และอเมริกา การเดินทางระหว่างประเทศ  การสื่อสาร การติดต่อค้าขาย และการขยายตัวของอุตสาหกรรมการค้าในโลก  ตลอดทั้งการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกด้านต่าง ๆเช่นด้านบันเทิง กีฬา  แฟชั่น การแต่งกาย เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ภาษาอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลต่อภาษาไทยเป็นอย่างมาก  เรานำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เรามีคำยืมภาษาอังกฤษทุกรูปแบบ  ทั้งคำทับศัพท์  คำแปลศัพท์ และศัพท์บัญญัติ  การยืมคำภาษอังกฤษมาใช้ในภาษาไทยช่วยเปิดและขยายโลกทัศน์ด้านวิชาการ  เศรษฐกิจ  เทคโนโลยี และวัตถุนิยมแก่คนไทย ทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่า  “ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของผู้มีการศึกษา มีความทันสมัย และอยู่ในสงคมชั้นสูง”
คำยืมจากภาษาชวา –มลายู
               ภาษาชวา –มลายู  ที่ยืมมาใช้ส่วนใหญ่เป็นคำ ๒ พยางค์หรือมากกว่า  ส่วนมากเป็นคำหมายถึงพืช สัตว์ สิ่งของ สถานที่ และศิลปวัฒนธรรม หรือคำกริยาที่มีความหมายเฉพาะ  เช่น  กระดังงา  ทุเรียน มังคุด น้อยหน่า งูกะปะ  หอกกะพง ปลากุเลา โลมา ลิงอุรังอุตัง กอและ กริช กำยาน ปาเต๊ะ  สลัก ว่าว จับปิ้ง ฆ้อง บุหงารำไป  ประทัด   โสร่ง โกดัง มัสยิด เบตง ภูเก็ต ตะเบ๊ะ
คำยืมจากภาษาโปรตุเกส
            ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษาโปรตุเกสได้แก่คำว่ากระดาษ (สันนิษฐานว่าเพี้ยนมากจาก  “กราตัส”)  กะละแม  กะละมัง (ขนม)ปัง  ปั้นเหน่ง หลา เหรียญ  บาทหลวง  เลหลัง  สบู่
คำยืมจากภาษาเปอร์เชีย
            ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษาเปอร์เชีย เช่น คำว่า กุหลาบ(มาจากคำว่า Gul Gol แปลว่า กุหลาบ,  ดอกไม้ทั่วไปสีแดง  เติม suffix - ab เป็น กุลลาพ  แปลว่า น้ำกุหลาบหรือน้ำดอกไม้เทศ  ไทยนำมาใช้แทนดอกไม้ขนาดย่อม มีกลิ่นหอม  นอกจากนี้ยังมีคำอื่น ๆ  เช่น เกด คาราวาน ชุกชี ตาดเยียรบับ ตราตราชู  ฝรั่ง ราชาวดี  ศาลา  สนม  สักหลาด สุหร่าย  องุ่น  
คำยืมจากภาษาอาหรับ
            ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษาอาหรับได้แก่  กะลาสี  โกหร่าน (พระคัมภีร์กุรอาน)  ระยำ (การลงโทษโดยใช้ก้อนหินขว้างให้ตายเพราะทำผิดประเพณี  ไทยนำมาใช้ในความหมายว่า  ชั่วช้าเลวทราม)
คำยืมจากภาษาทมิฬ– มลายู 
        ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษาทมิฬได้แก่คำว่า  กะไหล่  กุลี  กานพลู  กำมะหยี่ จงกลนีตรียัมปวาย ปะวะหล่ำ   อาจาด   กะละออม   กะหรี่ (แกงแขกชนิดหนึ่ง)   ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษามลายู  ได้แก่คำว่า กว้าน พลายเพลาะ   ฝาละมี   กำมะลอ   สะบ้า   สมิง   กระแจะ   ตวัก  
อิทธิพลของภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
1.   ทำให้คำในภาษาไทยมีหลายพยางค์เนื่องจากการยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้   เช่น
            ภาษาเขมร เช่น เผด็จ  เสวย  กังวล บำเพ็ญ  ถนน
            ภาษาจีน  เช่น  ตะหลิว  ก๋วยเตี๋ยว เล่าเตง เอี้ยมจุ๊น
            ภาษาอังกฤษ เช่น  คลินิก สนุกเกอร์  เนกไท  แคชเชียร์
            ภาษาบาลี-สันสกฤต    เช่น ปรัชญา  กรีฑา   อัคนี  วิทยา   พร  ประเสริฐ
2.   ทำให้คนไทยมีเสียงควบกล้ำมากขึ้น  เช่น  จันทรา  นิทรา  ทรานซิสเตอร์  เอนทรานซ์  และเพิ่มเสียงควบกล้ำซึ่งไม่มีในภาษาไทย  เช่น  ดรัมเมเยอร์   ดร๊าฟ  เบรก  บรอนซ์  บล็อก ฟรี แฟลช  ฟลอโชว์  ฟลูออรีน
3.    ทำให้คำไทยมีตัวสะกดมากขึ้น  ปกติคำไทยแท้ ตัวสะกดจะตรงตามมาตรา ซึ่งมีเพียง  8  แม่  แต่คำยืมจากภาษาต่างประเทศจะสะกดไม่ตรงตามมาตรา  ดังตัวอย่าง
                              แม่กก    เช่น    สุข  เมฆ  เช็ค  สมัคร 
                              แม่กด    เช่น    กฎ  รัฐ  กอล์ฟ  ฤทธิ์  พุทธ 
                              แม่กน   เช่น     เพ็ญ   เพียร  สูญ  บอล   คุณ  กุศล 
                              แม่กบ   เช่น     รูป  โลภ กราฟ  กอล์ฟ  
4.   ทำให้คำในภาษาไทยมีคำศัพท์มากขึ้น  สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม    เช่น
                              น้ำ          -     อุทก  วารี  คงคา  สาคร  ธาร  ชล  ชโลธร 
                              ผู้หญิง   -       นงเยาว์  นงคราญ  อิตถี  สตรี  กัลยา  สุดา  สมร  วนิดา
                              พระอาทิตย์   - สุริยา  รพี  รวิ  ภากร
                              ดอกไม้  -       มาลี   บุปผา   บุหงา  โกสุมคำแจกความหมายละเอียดขึ้น  เช่น  อาคาร  คฤหาสน์  ปราสาท  วิมาน  กระท่อม  กระต๊อบ   มีคำแสดงฐานะหรือระดับของบุคคลมากขึ้น  เช่น 
                              ผัว   -   สวามี  สามี  ภราดา       เมีย   -   ภรรยา  ภริยา  ชายา  มเหสีนำภาษาต่างประเทศบางคำไปใช้เป็นคำราชศัพท์   เช่น  เสด็จ  เสวย  โปรดเกล้า ฯ  กระหม่อม

การแต่งคำประพันธ์


การแต่งคำประพันธ์

การแต่งคำประพันธ์

                การแต่งคำประพันธ์เป็นงานที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้กับอาชีพต่างๆ ได้ โดยจะต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราว  ความรู้สึกนึกคิด  อารมณ์ และจินตนาการผ่านตัวอักษรและถ้อยคำที่ไพเราะ  คล้องจองและถูกต้องตามรูปแบบฉันทลักษณ์



ความหมายของคำประพันธ์
                พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  (2542 602)  ได้ให้ความหมายของคำประพันธ์หรือบทร้อยกรองไว้ว่า ถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์
                แบบเรียนภาษาไทยของกรมการศึกษานอกโรงเรียน  ได้ให้ความหมายของคำประพันธ์ไว้ว่า การนำถ้อยคำมาเรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามที่บัญญัติไว้ในตำราว่าด้วยการแต่งโคลง  ฉันท์ กาพย์  กลอน  และร่าย 
                สรุปได้ว่า  คำประพันธ์ คือ การเรียบเรียงถ้อยคำตามระเบียบฉันลักษณ์
ประเภทของคำประพันธ์
                ประเภทของคำประพันธ์ที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป  มี 5  ประเภท  คือ ร่าย  โคลง  กาพย์ กลอน  และฉันท์
                คำประพันธ์ที่นิยมนำไปประกอบอาชีพต่าง
ๆ มีดังนี้
                1.   ร่าย  เป็นคำประพันธ์ที่แบ่งเป็นวรรค ๆ วรรคละ 5  คำ  มีการส่งสัมผัสระหว่างวรรค
โดยคำสุดท้ายของวรรคต้น  จะส่งสัมผัสไปยังคำที่  1 – 3 ของวรรคถัดไป และจะส่งสัมผัสต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ซึ่งการจบของร่ายจะจบด้วยโคลงสองสุภาพ  ร่ายที่นิยมแต่งมากที่สุด  คือ  ร่ายสุภาพ ซึ่งมีแผนผังบังคับ  ดังนี้


ตัวอย่างร่าย
                จักดำเนินในเบื้อง                เรื่องราชพงศาวดาร            บรรหารเหตุแผ่นภูว์
ชูพระยศเจ้าหล้า                                  อยู่คุ้งฟ้าคุ้งดิน                      เฉกเพลงพิณไพเราะห์
เสนาะโคตรสำนวน                            เป็นศุภสารเสาวนิตย....     ดื่นแสนยากลากลาด
ดาษพลช้างพลม้า                                พอพิรุณแผ้วฟ้า                    จักผ้ายพลจร
(ลิลิตตะเลงพ่าย)
กลวิธีในการแต่งคำประพันธ์ประเภทต่างๆ
กลวิธีในการแต่งร่าย
                การแต่งร่ายมีกลวิธี  ดังนี้
                1.   กำหนดแนวคิดหรือเรื่องราวที่ต้องการสื่อ  โดยวางโครงเรื่องให้เป็นร้อยแก้วธรรมดาเสียก่อน
                2.  เลือกเฟ้นถ้อยคำให้ได้เท่ากับจำนวนคำภายในหนึ่งวรรค
                3.  พิจารณาจังหวะลีลาให้คล้องจองและกลมกลืนกันกับวรรคอื่น
                4.  พิจารณาความหมายให้ตรงประเด็นกับเรื่องราวที่ต้องการสื่อ  หากมีการใช้คำที่ไม่ตรงความหมาย  ให้เลือกเฟ้นถ้อยคำที่มีความหมายตามต้องการ
                5.   ตรวจทานสัมผัสระหว่างวรรคให้ถูกต้อง
                ตัวอย่างการใช้ร่ายในการเขียนเนื้อหาข่าว  รายงานข่าว หรือการวิจารณ์ข่าว เพื่อให้มีลีลาคล้องจองและมีจังหวะดึงดูดความสนใจของผู้ฟังมากกว่าการใช้ร้อยแก้วแบบปกติ  เช่น
                “ประชาชนในย่านนี้    ว่าไปมีหลายประเภท   บางคนเป็นผู้มีการศึกษาดี   มีงานทำ มีหน้ามีตา บางคนอาจเป็นพ่อค้นแม่ขาย บางคนก็เป็นผู้ที่ไปจับจ่ายใช้สอย มีไม่น้อยที่ไม่ใช้สะพานลอยที่สร้างไว้ให้ข้ามถนน  บุคคลเหล่านี้ใช้สะพานลอยเป็นเพียงเครื่องประดับถนน  ยอมเสี่ยงตนกับการถูกรถราเฉี่ยวชน
เดินข้ามถนนใต้สะพานลอย คนจำนวนไม่น้อย มีอยู่ทั่วไปในกรุงเทพในทุกวันนี้...”
(ข่าวเพื่อพัฒนาสังคม  ช่อง 7  สี)
                2.   โคลง เป็นคำประพันธ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น  โคลงมีหลายประเภท  แต่ที่เป็นที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน  คือ โคลงสี่สุภาพ ซึ่งมีแผนผังบังคับ  ดังนี้

ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพ
                                                เสียงลือเสียงเล่าอ้าง                            อันใด  พี่เอย
                                เสียงย่อมยอยศใคร                                              ทั่วหล้า
                                สองเขือพี่หลับใหล                                             ลืมตื่น  ฤๅพี่
                                สองพี่คิดเองอ้า                                                    อย่าได้ถามเผือ
                กลวิธีในการแต่งโคลงสี่สุภาพ
                การแต่งโคลงสี่สุภาพมีกลวิธี  ดังนี้
1.            วางโครงเรื่องของเนื้อหาหรือแนวคิดที่ต้องการจะสื่อเป็นร้อยแก้วเสียก่อน
2.            เลือกสรรถ้อยคำ มาเรียงร้อยตามรูปแบบโคลงให้ได้สัมผัสและเอกโทตามที่บังคับ
3.            พิจารณาความหมายให้ตรงกับเนื้อหาหรือแนวคิดที่วางไว้
3.   กาพย์ เป็นคำประพันธ์ที่เกิดขึ้นสมัยอยุธยาตอนกลาง ลักษณะบังคับของกาพย์บังคับจำนวนคำและสัมผัส  กาพย์ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก  คือ กาพย์ยานี  11  เพราะเป็นกาพย์ที่มีลีลาไพเราะ  อ่อนหวาน และเหมาะกับการพรรณนาความ พรรณนาธรรมชาติ พรรณนาอารมณ์และความรู้สึกโศกเศร้า คร่ำครวญ  กาพย์ยานี  11 มีแผนผังบังคับ  ดังนี้


ตัวอย่างกาพย์ยานี 11
                                ขึ้นกกตกทุกข์ยาก                                แสนลำบากจากเวียงชัย
                มันเผือกเลือกเผาไฟ                                           กินผลไม้ได้เป็นแรง
                                รอนรอนอ่อนอัศดง                            พระสุริยงเย็นยอแสง
                ช่วงดังน้ำครั่งแดง                                               แฝงเมฆเขาเงาเมรุธร

กลวิธีในการแต่งกาพย์ยานี 11
การแต่งกาพย์ยานี 11 มีกลวิธีดังนี้
1.            กำหนดแนวคิดและโครงเรื่องให้ชัดเจน
2.            เลือกสรรถ้อยคำให้มีจำนวนและสัมผัสตามแผนผัง
3.            อ่านทบทวนและพิจารณาความหมายให้ตรงประเด็นกับเรื่องราวที่ต้องการสื่อ
4.            วิธีแต่งกาพย์ยานีอย่างง่าย ๆอาจเริ่มที่การฝึกเติมคำให้สัมผัสกัน และให้มีความหมายเข้ากับเนื้อความของคำประพันธ์นั้น
4. กลอน  เป็นคำประพันธ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดประเภทหนึ่ง  เพราะเป็นคำประพันธ์ที่แต่งง่ายและมีความไพเราะ  จำนวนคำของกลอนในวรรคอาจมีตั้งแต่  4 คำ  6  คำ 8  คำ  ซึ่งอนุโลมให้มีจำนวนตั้งแต่  7 – 9 คำก็ได้  และโดยทั่ว ๆ ไป ชาวบ้านมักจะเรียกชื่อกลอนโดยการนำจำนวนคำมาต่อท้าย  เช่น กลอน  4  กลอน 6  กลอน  8 ซึ่งอาจเรียกรวม ๆ ว่า กลอนสุภาพ ซึ่งอนุโลมให้มีจำนวนตั้งแต่  7 –9  คำก็ได้  และโดยทั่ว ๆ ไป ชาวบ้านมักจะเรียกชื่อกลอนโดยการนำจำนวนคำมาต่อท้าย  เช่น กลอน  4  กลอน 6  กลอน  8 ซึ่งอาจเรียกรวม ๆ ว่า กลอนสุภาพ  ซึ่งมีแผนผังดังนี้

แผนผังกลอนสุภาพ
ธารทอง
                                ฟ้าที่นี่แผ้วผ่องก่องประภาส               ริ้วทองลาดแลรอบขอบคิ้วหาว
                น้ำในธารสะท้อนแพรวดั่งแววดาว                    กะพริบพราวเพียงภาพทาบเปลวทอง
                                สำหรับคนบอบช้ำระกำรัก                ที่ทุกข์หนักพักตร์พริ้มมาปริ่มหมอง
                ผู้สูญสิ้นดินฟ้าจะคว้าครอง                               น้ำเนตรนองท่วมฤทัยไร้ญาติมิตร
                   ประยอม ซองทอง

                วิธีแต่งกลอนสุภาพ
                1.  กลอนสุภาพ เค้าโครงและเนื้อหาเป็นร้อยแก้วก่อน
                2.   เลือกคำมาใส่ในวรรค  โดยเรียบเรียงถ้อยคำให้สัมผัสคล้องจองกันตามแผนผัง  และให้เสียงวรรณยุกต์ตรงตามความนิยม  เช่น คำสุดท้ายของวรรครับ นิยมใช้เสียงจัตวา คำสุดท้ายของวรรคสดับ และวรรครอง  นิยมใช้เสียงสามัญ
                3.  พิจารณาความหมายของถ้อยคำที่ใช้ให้ตรงกับความหมายที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ  หากได้ความหมายที่ยังคลาดเคลื่อนอยู่ ให้เลือกเฟ้นคำที่มีความหมายตรงกันมาใช้แทน  และต้องรักษาสัมผัสด้วย  หากคำนั้นเป็นคำสั่งหรือรับสัมผัส           

                5.   ฉันท์ เป็นคำประพันธ์ที่ไทยรับมาจากอินเดีย ไม่เหมาะสำหรับภาษาไทยนัก เพราะฉันท์บังคับครุลหุ ผู้ที่จะแต่งฉันท์ได้ต้องมีความรู้เกี่ยวกับฉันทลักษณ์ของฉันท์แต่ละชนิดเป็นอย่างดี และผู้ที่จะแต่งฉันท์ได้ดีนั้นก็ต้องเป็นผู้มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับภาษา  และมีศักยภาพในการแต่งคำประพันธ์ ในปัจจุบันกวีไทยมักใช้ฉันท์แต่งบทอาศิรวาทในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเท่านั้น  จะไม่นิยมนำฉันท์มาแต่งให้บุคคลทั่ว ๆ ไป จึงจะไม่กล่าวถึงความรู้เรื่องการแต่งฉันท์กับผู้เรียน  ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ยากเกินไป

                ตัวอย่างบทอาศิรวาทที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทฉันท์
                                สยามรัฐนิราศทุกข์                              ประชาสุขเพราะทรงชัย
                พระเกียรติประจักษ์ไกล                                     นิกรชนเกษมศานต์
                                ประณตเกษประนมกราบ                  ณ  เบื้องบาทพระภูบาล
                ถวายพรพระชนมาน                                          ธ   ยืนยงทรงพระเจริญ
สรุปสาระสำคัญ
                การแต่งคำประพันธ์เป็นการเรียงร้อยถ้อยคำอย่างมีศิลปะให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์คำประพันธ์ประเภทต่าง
ๆ  การศึกษากลวิธีแต่งคำประพันธ์และความเหมาะสมของคำประพันธ์แต่ละประเภทกับการนำไปใช้ จะช่วยให้นักเรียนสามารถนำคำประพันธ์ไปประยุกต์ใช้กับอาชีพได้ อย่างเหมาะสม

การวิเคราะห์วรรณกรรม


วรรณคดีและวรรณกรรม
การวิเคราะห์คุณค่าของวรรณกรรม

๑. ความหมายของการวิเคราะห์วรรณกรรม
การวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาตรวจตรา แยกแยะและประเมินค่า ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้วิเคราะห์ในการนำไปแสดงความคิดเห็น อภิปรายข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นทราบ ด้วยว่าใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์อย่างไร ต่อใครบ้าง ผู้วิเคราะห์ มีความเห็นอย่างไร เรื่องที่อ่านมีคุณค่าด้านใดบ้างและแต่ละด้านสามารถนำไปประยุกต์
ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

๒. แนวในการวิเคราะห์วรรณกรรม
การวิเคราะห์วรรณกรรมมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติอย่างกว้าง ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมงานเขียนทุกประเภท แต่ละประเภท ผู้วิเคราะห์ต้องนำแนวการวิเคราะห์ไปปรับใช้ ให้เหมาะสมกับงานเขียนแต่ละชิ้นงานซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งประพนธ์ เรืองณรงค์ และคณะ (๒๕๔๕ : ๑๒๘) ได้ให้หลักเกณฑ์กว้าง ๆ ในการวิเคราะห์วรรณกรรม ดังนี้
๒.๑ ความเป็นมาหรือประวัติของหนังสือและผู้แต่ง เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ
๒.๒ ลักษณะคำประพันธ์
๒.๓ เรื่องย่อ
๒.๔ เนื้อเรื่อง ให้วิเคราะห์เรื่องในหัวข้อต่อไปนี้ตามลำดับ โดยบางหัวข้ออาจจะมี หรือไม่มีก็ได้ตามความจำเป็น เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก วิธีการแต่ง ลักษณะการเดินเรื่อง การใช้ถ้อยคำ สำนวนในเรื่องท่วงทำนองการแต่ง วิธีคิดสร้างสรรค์ ทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียน เป็นต้น
๒.๕ แนวคิด จุดมุ่งหมาย เจตนาของผู้เขียนที่ฝากไว้ในเรื่อง ซึ่งต้องวิเคราะห์ออกมาก
๒.๖ คุณค่าของวรรณกรรม โดยปกติแบ่งออกเป็น ๕ ด้านใหญ่ ๆ และกว้าง ๆ เพื่อความครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งผู้วิเคราะห์ต้องไปแยกหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับลักษณะ ของหนังสือที่จะวิเคราะห์นั้น ๆ ตามความเหมาะสม

๓. การวิเคราะห์คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม
ความหมายของการวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรม
การวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาองค์ประกอบทุกส่วน โดยวิธีแยกแยะรายละเอียดต่าง ๆ ตั้งแต่ถ้อยคำสำนวน การใช้คำ ใช้ประโยค ตลอดจนเนื้อเรื่องและแนวคิด ทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียนนั้น เมื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบได้แล้ว จึงวิจารณ์ต่อไป
การวิจารณ์ หมายถึง การพิจารณาเทคนิคหรือกลวิธีที่แสดงออกมานั้นให้เห็นว่าน่าคิด น่าสนใจ น่าติดตาม มีชั้นเชิงยอกย้อนหรือตรงไปตรงมา องค์ประกอบใดมีคุณค่า
น่าชมเชย องค์ประกอบใดน่าท้วงติงหรือบกพร่องอย่างไร การวิจารณ์สิ่งใดจึงต้องใช้ความรู้ มีเหตุผล มีหลักเกณฑ์ และมีความรอบคอบด้วย
การวิจารณ์งานประพันธ์ หมายถึง การพิจารณากลวิธีต่าง ๆ ทุกอย่างที่ปรากฏในงานเขียน ซึ่งผู้เขียนแสดงออกมาอย่างมีชั้นเชิง โดยผู้วิจารณ์จะต้องแสดงเหตุผลที่จะชมเชย หรือชี้ข้อบกพร่องใด ๆ ลงไป

วิธีวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์
ตามปกติแล้วเมื่อจะวิจารณ์สิ่งใด จำเป็นต้องเริ่มวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ให้เข้าใจ ชัดเจนเสียก่อนแล้วจึงวิจารณ์แสดงความเห็นออกมาอย่างมีเหตุผล ให้น่าคิด น่าฟังและ
เป็นคำวิจารณ์ที่น่าเชื่อถือได้
การวิจารณ์งานประพันธ์สำหรับผู้เรียนที่เริ่มต้นฝึกหัดใหม่ ๆ นั้น อาจต้องใช้เวลาฝึกหัด มากสักหน่อย อ่านตัวอย่างงานวิจารณ์ของผู้อื่นมาก ๆ และบ่อย ๆ จะช่วยได้มากทีเดียว เมื่อตัวเราเริ่มฝึกวิจารณ์งานเขียนใด ๆ อาจจะวิเคราะห์ไม่ดี มีเหตุผลน้อยเกินไป คนอื่นเขาไม่เห็นด้วย เราก็ควรย้อนกลับมาอ่านเขียนนั้น ๆ อีกครั้งแล้วพิจารณาเพิ่มเติม วิธีวิเคราะห์ วิจารณ์งานประพันธ์จึงมีลักษณะดังนี้

แผนภูมินี้แสดงขั้นตอนการวิเคราะห์และวิจารณ์ โดยเริ่มต้นที่ผู้อ่านไปอ่านงานวรรณกรรม เมื่ออ่านแล้วจึงวิเคราะห์แยกแยะดูองค์ประกอบต่าง ๆ ลำดับต่อไปนี้จึงวิจารณ์กลวิธีการ
นำเสนอ ว่าน่าสนใจหรือไม่เพียงใด แล้วผู้วิจารณ์จึงเรียบเรียงความคิดเห็นแสดงออกมาด้วยวิธีพูด หรือเขียนวิจารณ์อย่างมีเหตุผล ลูกศรด้านใต้ที่ย้อนกลับมาสู่ผู้อ่านอีกนั้นหมายความว่า แม้นว่า การวิจารณ์จะสิ้นสุดแล้ว แต่ผู้อ่านก็ยังย้อนกลับมาสนใจงานประพันธ์ชิ้นเดิม แล้วเริ่มต้นวิเคราะห์วิจารณ์ใหม่ได้อีกตลอดเวลา

ประเด็นที่ใช้ในการวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าของงานวรรณคดีและวรรณกรรม
การวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์เท่าที่พบเห็นทั่ว ๆ ไป นักวิจารณ์นิยมพิจารณากว้าง ๆ ๔ ประเด็น
๑) คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ ความรู้สึกและจินตนาการตามรส ความหมายของถ้อยคำและภาษาที่ผู้แต่งเลือกใช้
เพื่อให้มีความหมายกระทบใจผู้อ่าน
๒) คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิดและกลวิธีนำเสนอทั้ง ๒ ประเด็นนี้ จะอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบพอเข้าใจ โดยจะกล่าวควบกันไปทั้งการวิเคราะห์และการวิจารณ์
๓) คุณค่าด้านสังคม วรรณคดีและวรรณกรรมจะสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมและวรรณคดีที่ดีสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย
๔) การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันผู้อ่านสามารถนำแนวคิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่านไปประยุกต์ใช้หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้

๓.๑ การพิจารณาคุณค่าด้านวรรณศิลป์
วรรณศิลป์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญซึ่งช่วยส่งเสริมให้วรรณกรรมมีคุณค่าน่าสนใจ คำว่า “วรรณศิลป์” หมายถึง ลักษณะดีเด่นทางด้านวิธีแต่ง การเลือกใช้ถ้อยคำ สำนวน ลีลา
ประโยค และความเรียงต่าง ๆ ที่ประณีต งดงาม หรือมีรสชาติเหมาะสมกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างดี วรรณกรรมที่ใช้วรรณศิลป์ชั้นสูงนั้นจะทำให้คนอ่านได้รับผลในทางอารมณ์ความรู้สึก
เช่น เกิดความสดชื่น เบิกบาน ขบขัน เพลิดเพลิน ขบคิด เศร้าโศก ปลุกใจ หรืออารมณ์อะไร ก็ตามที่ผู้เขียนต้องการสร้างให้เกิดขึ้นในตัวผู้อ่าน นั่นคือ วรรณศิลป์ในงานเขียน ทำให้ผู้อ่าน เกิดความรู้สึกในจิตใจและเกิดจินตนาการสร้างภาพคิดในสมองได้ดี
การวิเคราะห์งานประพันธ์จึงควรพิจารณาวรรณศิลป์เป็นอันดับแรกแล้วจึงวิจารณ์ว่ามีคุณค่าหรือน่าสนใจเพียงใดหากงานประพันธ์นั้นเป็นประเภทบทร้อยกรอง ผู้อ่านที่จะ
วิเคราะห์วิจารณ์ ควรมีความรู้บางอย่าง เช่น รู้บังคับการแต่งบทร้อยกรองรู้วิธีใช้ภาษาของกวี รู้วิธีสร้างภาพฝันหรือความคิดของกวี เป็นต้น ความรู้ดังกล่าวนี้จะช่วยให้เข้าใจบทร้อยกรอง
ได้มากขึ้น
ลองอ่านบทร้อยกรองง่าย ๆ สักเรื่องหนึ่ง เพื่อทดลองวิเคราะห์วิจารณ์กัน

เรื่องวอนขอ...

เมื่อเรายังเล็กเป็นเด็กน้อย
เคยกล่าวถ้อยวอนจันทราว่าให้สม

ขอข้าวแก … แหวน .. ให้น้องปองนิยม
ขอเตียงตั่งนั่งชมดาวและเดือน

เมื่อเห็นดาวล้อมเดือนกลาดเกลื่อนฟ้า
ชวนน้องนับดาราที่เป็นเพื่อน

ระยับระยิบพริบตาดาวพร่าเลือน
แต่ดวงเดือนเด่นสว่างกลางโพยม

อยากตะกายว่ายฟ้าไปหาจันทร์
และใฝ่ฝันอยากเอื้อมให้ถึงโสม

เคยนึกตามใจชอบปลอบประโลม
ว่าเติบใหญ่จะได้โคมรัตติกาล

ฝันไปตามอารมณ์ผสมโง
่ว่าเติบโตจะบินไปด้วยใจหาญ

สอยดวงดาวพราวฟ้ามาเป็นยาน
พาเราผ่านเมฆด้นจนถึงจันทร์


(บทกวีเรื่อง วอนขอ ของ กุลทรัพย์ รุ่งฤดี)
(โพยม = ท้องฟ้า, โสม = ดวงจันทร์, รัตติกาล = กลางคืน)

วิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าด้านวรรณศิลป์
บทร้อยกรองนี้วิเคราะห์ได้ว่า เป็นกลอนสุภาพจำนวน ๔ บท เนื้อความกล่าวถึงตัวผู้เขียน เมื่อเป็นเด็กเคยวอนขอสิ่งต่าง ๆ จากดวงจันทร์และอยากไปให้ถึงดวงจันทร์ ผู้เขียนใช้ถ้อยคำ แสดงภาพความฝันอย่างง่าย ๆ แต่ให้ความรู้สึกน่ารัก สวยงาม เช่น ดาวล้อมเดือน ระยับระยิบเด่นสว่าง ตะกายว่ายฟ้า ดวงดาวพราวฟ้า ผ่านเมฆ เป็นต้น ลีลาการเขียนเช่นนี้วิจารณ์ได้ว่า สร้างอารมณ์คนอ่านได้ดี ชวนให้คิดถึงดวงจันทร์ ดวงดาวที่กลาดเกลื่อนอยู่บนท้องฟ้ายามค่ำคืน
บทร้อยกรองที่ใช้ถ้อยคำช่วยสร้างความรู้สึกและมีเนื้อหาสร้างสรรค์จินตนาการได้เช่นนี้ เรียกว่า “วรรณศิลป์”
ถ้าเราเขียนรูปภาพได้ ลองเขียนภาพฝันตามจินตนาการของกวีไปด้วยก็ได้

๓.๒ การวิจารณ์คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิด และกลวิธีนำเสนอ
งานประพันธ์ที่มีคุณค่าน่าสนใจนั้น นอกจากจะมีวิธีใช้ถ้อยคำภาษาและแสดงชั้นเชิง การแต่งอย่างดีแล้ว ยังต้องวิเคราะห์ถึงเนื้อหาสาระและแนวความคิดที่มีประโยชน์ต่อ
คนอ่านอีกด้วย เนื้อหาสาระที่ดีนั้นอาจเป็นในแง่การให้ความรู้ ให้ความคิดเห็น คติ คำสอน ข้อเตือนใจ ชี้ช่องให้มองเห็นความจริง ความดี ชี้ทางแก้ปัญหา แนะสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือ สิ่งที่ควรละเว้น กลวิธีการเขียนอาจชี้แนะโดยตรงหรือทางอ้อมก็ได้แล้วแต่กลวิธีของผู้เขียน ว่าจะทำได้แนบเนียนน่าสนใจเพียงใด
ข้อที่น่าสังเกตคือ งานเขียนที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องสอนศีลธรรมหรือคุณธรรมโดยตรง ผู้เขียนอาจใช้กลวิธีต่าง ๆ เพื่อให้คนอ่านเกิดความคิดได้ด้วยตนเอง ดังนั้นก่อนการวิจารณ์
คนอ่านจึงต้องพยายามทำความเข้าใจ จับความหมายและสรุปแนวความคิดทั้งหลายของผู้เขียนให้ได้เสียก่อน
หลักสำคัญมีอยู่อย่างหนึ่งว่า งานประพันธ์ที่ดีควรมีเนื้อหาสาระมุ่งสร้างสรรค์ มิใช่มุ่งทำลาย คราวนี้ลองอ่านบทร้อยกรองอีก ๑ เรื่อง ได้สร้างภาพการ์ตูนเป็นภาพคิดประกอบ เรื่องไว้ให้เรียบร้อยแล้ว

ฉันเป็นหนี้ดอกจำปาของตาพลอย
ตั้งแต่น้อยยังนึกรำลึกได้

ขอเล่าสู่คุณครูผู้ร่วมใจ
ว่าดอกไม้มีอำนาจดลบันดาล

คุณยายฉันท่านพาไปฟังเทศน์
ธรรมวิเศษแสนสุดพุทธบรรหาร

ฉันไม่รู้รสธรรมล้ำโอฬาร
ที่พระท่านเทศนาว่าอย่างไร

เพราะตัวฉันยังเด็กยังเล็กนัก
จะรู้จักรสพระธรรมได้ไฉน

ที่ฉันไปฟังเทศน์ทุกคราวไป
เพราะฉันอยากได้ดอกจำปาของตาพลอย

ตาพลอยดีมีจำปาบูชาพระ
เด็กเด็กจะแย่งกันลาอยู่บ่อยบ่อย

ดอกไม้อื่นดื่นไปมีไม่น้อย
แต่ไม่ค่อยถูกใจใช่จำปา

เด็กรุ่นฉันพากันไปฟังเทศน์
ก็เพราะเหตุอย่างเดียวจะเทียวหา

ดอกไม้ของตาพลอยเพื่อคอยลา
ต่างตั้งท่าแย่งกันทุกวันไป

ดอกจำปาล่อใจให้เป็นเหตุ
ฉันคงไปฟังเทศน์หาหยุดไม่

ยิ่งนานวันพลันค่อยเจริญวัย
ยิ่งเข้าใจธรรมซึ้งขึ้นทุกที

พุทธประวัติชาดกท่านยกมาอ้าง
ความคิดกว้างเห็นงามตามวิถี

รสพระธรรมนำใจให้ใฝ่ดี
ฉันเป็นหนี้ดอกจำปาของตาพลอย


(เรื่อง “ดอกจำปาของตาพลอย” ของเจือ สตะเวทิน)

วิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิดและกลวิธีนำเสนอ
กลอนสุภาพทั้ง ๗ บทนี้ เนื้อหาเป็นเรื่องราวในวัยเด็กของผู้เขียนเล่าถึงการตามคุณยายไปฟังเทศน์เพราะอยากได้ดอกไม้ คือ ดอกจำปา ครั้นไปฟังเทศน์บ่อยเข้า ทำให้เข้าใจคำสอน
ต่าง ๆ จึงเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นคนดี นับได้ว่าดอกจำปาเป็นดอกไม้ที่มีคุณค่าต่อชีวิต
บทร้อยกรองเรื่องนี้ ในแง่วรรณศิลป์จะเห็นว่าใช้ถ้อยคำง่าย ๆ อ่านเข้าใจดี การลำดับเนื้อเรื่อง เรียงลำดับไม่สับสน เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาพบว่ากล่าวถึงความดีของรสพระธรรม
คำสอน และให้ข้อเตือนใจแก่ผู้อ่านคือไม่ให้มองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยให้เราได้รับ ผลตอบแทนในทางที่ดีงาม บทร้อยกรองลักษณะนี้จึงวิจารณ์โดยสรุปได้ว่าดีพร้อมทั้งจินตนาการภาพคิดและเนื้อหาสาระเตือนใจ นับว่ามีคุณค่าต่อผู้อ่านเป็นอย่างมาก

๓.๓ การพิจารณาคุณค่าด้านสังคม
การพิจารณาคุณค่าด้านสังคมจากวรรณกรรม ผู้อ่านต้องค้นหาสาระก่อนว่าผู้เขียน ต้องการเสนอ “สาระ” อะไรให้กับผู้อ่านเป็นด้านดีหรือด้านเสียของสังคมและผู้อ่าน ต้องพิจารณาว่า พึงปฏิบัติอย่างไร หรือได้แนวคิดอะไรบ้างจากการอ่านวรรณกรรมนั้น
วรรณกรรมทุกเรื่องจะสะท้อนภาพชีวิตและสังคม ตัวอย่างเช่น วรรณกรรมเรื่องน้ำพุจะสะท้อนภาพสังคมวัยรุ่นที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จนเสียชีวิตในที่สุด

๓.๔ การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
งานประพันธ์ย่อมประกอบด้วยถ้อยคำ เนื้อหาสาระและกลวิธีการเขียนแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำงานประพันธ์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ในแง่จดจำถ้อยคำสำนวนไปใช้
้เพื่อความสนุกสนาน ความไพเราะ ส่วนเนื้อหาสาระอาจนำไปใช้ในแง่ได้คติข้อเตือนใจ ได้ความคิดเห็นที่มีประโยชน์ต่อชีวิต ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ
การนำคุณค่าของงานประพันธ์ไปใช้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของผู้อ่าน ที่จะวิเคราะห์เพื่อเลือกจดจำ คิดและนำไปใช้ตามกำลังความคิดของตน
ตัวอย่างแนวการวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทร้อยกรอง
การอ่านอย่างวิเคราะห์จะสามารถแยกข้อดี-ข้อเสีย และประเมินค่าของวรรณกรรมได้ ซึ่งผู้อ่านควรวิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. รูปแบบการประพันธ์หรือฉันทลักษณ์ในการแต่ง
๒. ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง
๓. ความไพเราะ
๔. สาระของเนื้อหา
๑) รูปแบบการประพันธ์หรือฉันทลักษณ์ในการแต่ง
ฉันทลักษณ์เป็นกฎข้อบังคับในการประพันธ์ เช่น โคลงสี่สุภาพบังคับว่า ต้องใช้คำที่มีวรรณยุกต์เอก วรรณยุกต์โทตามตำแหน่งที่กำหนด ฉันท์กำหนดเสียงหนักเบา (ครุ-ลหุ)
และคำประพันธ์ทุกประเภทบังคับการส่งสัมผัสตามตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้ เป็นต้น ฉันทลักษณ์ เป็นระเบียบข้อบังคับ ถ้าไม่ปฏิบัติตามถือว่าผิด การพิจารณาวรรณกรรมร้อยกรองเกือบ
ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ฉันทลักษณ์ เพราะผู้ประพันธ์จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว
๒) ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง
คือกลวิธีในการประพันธ์ที่นิยมกันว่าดีงามและถือปฏิบัติสืบต่อกันมา บทประพันธ์ที่ไม่ สอดคล้องกับธรรมเนียมนิยมไม่ถือว่าผิดหากแต่จะเป็นคำประพันธ์ที่ไม่งามสมบูรณ์ในความ
นิยมของผู้อ่าน
๑. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและการเลือกใช้คำประพันธ์ประเภทโคลง โคลงนิยมใช้คำที่มีน้ำหนักศัพท์ค่อนข้างสูง บางคำเป็นศัพท์เก่า บางคำใช้คำศัพท์แผลง บางครั้ง
ตอนเสียง คำหน้าเป็นเสียงอะ กวีบางคนนิยมใช้คำภาษาถิ่น กลวิธีการแต่งโคลงที่นิยมว่าไพเราะสืบมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบันมีมากมาย เช่น นิยมสัมผัสอักษร นิยมซ้ำคำ ในที่บางแห่งนิยมเสียงสูงท้ายวรรคสุดท้าย เป็นต้น

ตัวอย่าง โคลงสี่สุภาพต่อไปนี้ แสดงให้ธรรมเนียมในการแต่งหลายลักษณะ เช่น

โฉมควรจักฝากฟ้า ฤาดิน ดีฤา
เกรงเทพไท้ธรณินทร์ ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน บนเล่า นะแม่
ลมจะชายชักช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน
(โคลงนิราชนรินทร์)


๒. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและเลือกใช้คำประพันธ์ประเภทฉันท์ นิยมใช้ คำศัพท์สูง ได้แก่ คำโบราณ คำบาลี-สันสกฤต คำแผลง เป็นต้น กวีจะเลือกใช้คำฉันท์
์สำหรับเรื่องราวที่เป็นแบบแผนสูงส่งและสง่างาม เช่น คำบูชาพระรัตนตรัย คำบูชาพระเจ้า และบทสวดต่าง ๆ ส่วนเนื้อหาที่เป็นเรื่องราว เช่น นิทาน กวีจะเลือกเรื่องสำคัญที่เห็นว่า
ศักดิ์สิทธิ์ และสูงส่ง เช่น เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นต้น นอกจากนี้ ฉันท์แต่ละชนิด ยังมีลักษณะเหมาะสมกับการพรรณนาเฉพาะเรื่องอารมณ์ของตัวละคร และบรรยากาศอีกด้วย กวีได้ถือเป็นธรรมเนียมนิยมปฏิบัติสืบกันมา เช่น สัททุลวิกกิฬิตฉันท์ เหมาะสำหรับใช้เป็นบทไหว้ครูหรือยอพระเกียรติ

ตัวอย่าง อินทรวิเชียรฉันท์เหมาะสำหรับการพรรณนา ความอ่อนช้อยงดงาม เช่น

สายัณห์ตะวันยาม ขณะข้ามทิฆัมพร

เช้าภาคนภาตอน ทิศะตกก็รำไร

รอน ๆ และอ่อนแรง นภาแดงสิแปลงไป

เป็นครามอร่ามใส สุภะสดพิสุทธิ์สี

เรื่อ ๆ ณ เมื่อรัต ติจะผลัดก็พลันมี

มืดมามิช้าที ศศิธรจะจรแทน

(ณ หาดทรายชายทะเลแห่งหนึ่ง ของชิต บุรทัต)

๓. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและการเลือกใช้คำในการแต่งกาพย์
การแต่งกาพย์มักใช้คำพื้น ๆ ธรรมดา หากเรื่องที่มีโครงเรื่อง เนื้อเรื่องที่แต่งก็ไม่สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์เหมือนเรื่องที่แต่งเป็นคำฉันท์ กวีสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่งนิทานเป็นคำกลอน เช่น กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา เป็นต้น บางครั้งกวีใช้กาพย์และฉันท์แต่งปนกันในวรรณกรรม เรื่องเดียว โดยเลือกใช้กาพย์สำหรับบทพรรณนา สภาพเหตุการณ์ สภาพบ้านเมือง เป็นต้น
๔. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งร่าย
มีธรรมเนียมคล้ายกาพย์และโคลง แต่ไม่นิยมแต่งร่ายทั้งเรื่อง ใช้แต่งประกอบกับโคลง นอกจากร่ายยาวทำนองเทศน์เท่านั้นที่แต่งด้วยร่ายตลอดทั้งเรื่อง
๕. ธรรมเนียมนิยมในการแต่งและการเลือกใช้คำในการแต่งกลอน
นิยมใช้คำพื้น ๆ ธรรมดา บางครั้งกวีพลิกแพลง การใช้คำให้พิสดารเพื่อให้กลอนมีรสชาติ เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น การเล่นคำ การส่งสัมผัสด้วยคำตาย กลอนกลบทต่าง ๆ เป็นต้น



ตัวอย่าง “จะว่าโศกโศกอะไรที่ในโลก ก็ไม่โศกใจหนักเหมือนรักสมร

จะว่าหนักหนักอะไรในดินดอน ถึงสิงขรก็ไม่หนักเหมือนรักกัน”

๓) ความไพเราะของวรรณกรรมร้อยกรอง
ความไพเราะของวรรณกรรมร้อยกรองขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ที่ควรพิจารณามีดังนี้
๑. การเลือกสรรคำมาใช้
เลือกคำที่มีเสียงเสนาะ คือ คำที่จะใช้แฝงลีลา จังหวะอ่อนเนิบ นิ่มนวลหรือเร่งเร้า รุนแรง ตามที่กวีต้องการร่ายทอดอารมณ์หรือบรรยากาศออกมาสู่ผู้อ่าน

ตัวอย่าง บรรยากาศที่สวยเงียบ นิ่มนวล แฝงลีลาอ่อนโยนชวนเคลิบเคลิ้ม

“หนาวอารมณ์เรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร

แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง”

ตัวอย่าง บรรยากาศหรืออารมณ์ที่รุ่มร้อน รุนแรง กวีก็เลือกใช้คำและลีลาที่ แข็งกร้าว

เอออุเหม่นะมึงชิช่างกระไร ทุทาสสถุลฉะนี้ไฉน ก็มาเป็น

ศึกบ่ถึงและมึงก็ยังมิเห็น จะน้อยจะมากจะยากจะเย็น ประการใด

อวดฉลาดและคาดแถลงเพราะใจ ขยาดขยั้นมิทันอะไร ก็หมิ่นกู

(สามัคคีเภทคำฉันท์)

ก. การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงหรือเห็นภาพ ทำให้เกิดความไพเราะและสะเทือนอารมณ์ตามไปด้วย เช่น

ตัวอย่าง ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่

ออดแอดแอดออดยอดไกว แพใบไล้น้ำลำคลอง

(คำหยาด – เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)


ข. ใช้คำน้อยแต่กินความมาก เป็นการกล่าวอย่างกระชับ แต่มีเจตนาจะให้สื่อ ความหมายคลุมกว้างขวางออกไปยิ่งกว่าที่กล่าวไว้นั้น เช่น

ตัวอย่าง “อันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ”


คำว่าของสูง มีความหมายตามศัพท์ หมายถึง สิ่งที่อยู่สูง ๆ แต่เจตนาของผู้ส่งสาร มีความหมายกว้างออกไปอีก หมายถึง สิ่งที่สูงค่ายิ่ง
คำว่าปีนป่าย มีความหมายตามศัพท์ หมายถึง การไต่ไปสู่ที่สูง แต่เจตนาของผู้ส่งสาร มีความหมายกว้างออกไปอีก หมายถึง ความพยายาม ความมุ่งมั่น อดทน ต่อสู้อย่าง
ไม่ย่อท้อ
ค. การเล่นคำ คือการนำคำพ้องรูปพ้องเสียง มาร้อยกรองเข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดเสียงไพเราะน่าฟัง ถ้านำมาใช้ในบทพรรณนา หรือบทคร่ำครวญ ก็จะทำให้เกิดความสะเทือน อารมณ์ เช่น

ตัวอย่าง รอนรอนสุริยะโอ้ อัสดง

เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง ค่ำแล้ว

รอนรอนจิตจำนง นุชพี่ เพียงแม่

(กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง)

ง. การใช้คำอัพภาส คือ การซ้ำคำชนิดหนึ่ง โดยใช้พยัญชนะซ้ำเข้าไปข้างหน้า เช่น ริก เป็นระริก ยิ้ม เป็น ยะยิ้ม แย้ม เป็น ยะแย้ม เช่น

ตัวอย่าง “เพื่อชื่นชมรมณีย์กับชีวิต
ที่จะคิดที่จะทำตามคิดเห็น
ระเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉ่ำลืมลำเค็ญ
ลืมความเป็นปรัศนีย์ขอชีวิต”
(วารีดุริยางค์ ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)


จ. การเล่นเสียงวรรณยุกต์ คือ การนำคำที่มีพยัญชนะต้น สระ ตัวสะกดอย่างเดียวกัน แต่ต่างวรรณยุกต์กัน นำมาเรียงไว้ใกล้กัน ทำให้เกิดเสียงไพเราะดุจดนตรี เช่น

ตัวอย่าง “สกัดไดใดสกัดน้อง แหนงนอนไพรฤา

เพราะเพื่อมาราญรอนเศิกไซร้

สละสละสมร เสมอชื่อ ไม้นา

นึกระกำนามไม้เหม่นแม้นทรวงเรียม”

(ลิลิตตะเลงพ่าย)

ฉ. การสัมผัสอักษร - สัมผัสสระ
สัมผัสอักษร หมายถึง การนำคำที่มีเสียงพยัญชนะเดียวกันมาเรียบเรียงไว้ใกล้กัน
สัมผัสสระ หมายถึง การสัมผัสของคำที่มีเสียงสระเดียวกัน เช่น

๒. กวีโวหารและสำนวนโวหาร
การใช้กวีโวหารและสำนวนโวหารจะช่วยสร้างความไพเราะ ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในจิตหรือจินตภาพขึ้น ผู้แต่งอาจกล่าวอย่างตรงไปตรงมา หรือกล่าวเป็นโวหารภาพพจน์
ก็ได้ ซึ่งอาจใช้ได้หลายลักษณะ ดังนี้
ก. การเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย อาจทำได้ ๒ วิธีคือ
วิธีที่ ๑ การเปรียบสิ่งหนึ่งเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีคำแสดงความหมาย อย่างเดียวกันกับคำว่าเหมือน ปรากฏว่า ได้แก่คำว่า เสมือน เปรียบเหมือน ดุจ ประดุจ ดั่ง
ดุจดัง เพียง ราว เป็นต้น

ตัวอย่าง "แม้มีความรู้ดั่ง สัพทัญญู

ผิบ่มีคนชู ห่อนขึ้น"

"ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน

ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคคะใดใด"


วิธีที่ ๒ การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มักจะมีคำว่า คือ หรือ เป็น ปรากฏ อยู่ เช่น

ตัวอย่าง “เงินตราหรือคือกระดาษ ผู้สร้างขึ้นมาซิอนาถ หลงใหลเป็นทาสอำนาจเงิน”

แม้เธอเป็นดวงดารา ฉันจะเป็นฟ้ายามราตรีกาล”

ขอกายเจ้าจงเป็นเช่นต้นไม้ ยืนอยู่ได้โดยภพสงบนิ่ง

เพื่อแผ่ร่มเป็นหลักให้พักพิง แต่งดอกพริ้งผลัดฤดูอยู่ชั่วกาล”

ข. การใช้บุคลาธิษฐาน หมายถึง การสมมุติสิ่งต่าง ๆ ให้มีกิริยาอาการของมนุษย์ เช่น

ตัวอย่าง “มองซิมองทะเลเห็นลมคลื่นเห่จูบหิน บางครั้งมันบ้าบิ่นกระแทกหินดังครืน ๆ

หางนกยูงระย้าเรี่ยคลอเคลียน้ำ แพนดอกฉ่ำช้อยช่อวรวิจิตร”

ค. การใช้สัญลักษณ์หรือสิ่งแทนสัญลักษณ์ หมายถึง สิ่งหนึ่งที่ใช้แทนอีกสิ่งหนึ่ง

ตัวอย่าง สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ ความไร้เดียงสา

สีดำ หมายถึง ความตาย ความโศกเศร้า ความชั่วร้าย

ดอกกุหลาบ หมายถึง ความรัก ความสดชื่น

เมฆหมอกหมายถึง อุปสรรค ความเศร้า

นกขมิ้น หมายถึง คนร่อนเร่พเนจร


ง. การกล่าวเท็จ (อธิพจน์)เป็นการเน้นความรู้สึกบางอย่างให้ชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความแปลก และเรียกร้องความสนใจได้ดี


ตัวอย่าง “ถึงโลกแตกแหลกเป็นผงคลี รักเต็มปรี่ไม่มีรู้คลาย”

“จะเอาโลกมาทำปากกา จะเอานภามาแทนกระดาษ

เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอ”

จ. การใช้โวหารปฏิพากย์ (โวหารขัดแย้ง) คือ การนำคำที่มีความหมายขัดแย้งกันมาเรียงต่อกัน

ตัวอย่าง “ความหวานชื่นอันขมขื่น”
“ใกล้หัวใจแต่ไกลสุดฟ้า”
“ในความมืดอันเวิ้งว้างสว่างไสว …..”


๔) สาระของเนื้อหา
สาระของวรรณกรรม คือ ประโยชน์อันเป็นผลพลอยได้ที่ได้รับจากวรรณกรรม นอกเหนือจากความบันเทิงใจ

๑. แนวคิดและค่านิยมจากวรรณกรรม
แนวคิดที่ปรากฏในวรรณกรรม หมายถึง ความคิดสำคัญของเรื่องที่ให้ประโยชน์ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแก่มนุษยชาติและสังคม เช่น แนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องบุญกรรม ความรักชาติ ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์ เป็นต้น

ตัวอย่าง สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน

กินกัดเนื้อเหล็กจน กร่อนขร้ำ

บาปเกิดแต่ตนคนเป็นบาป

บาปย่อมทำโทษซ้ำใส่ผู้บาปเอง


(โคลงโลกนิติ)


โคลงบทนี้แสดงแนวคิดว่า ผลของความชั่วเป็นสิ่งร้ายกาจ ทำลายผู้ประพฤติชั่ว เหมือนสนิมที่กัดกินเนื้อเหล็กจนกร่อนผุ ผู้ที่ทำบาปทำชั่วก็จะเป็นโทษภัยแก่ผู้นั้นเอง
ค่านิยม หมายถึง ความรู้สึก ความคิด หรือความเชื่อของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เชื่อว่า มีความหมายหรือมีความสำคัญต่อตนหรือกลุ่มของคน ค่านิยมจะเป็นตัวกำหนด พฤติกรรมแบบแผนการดำเนินชีวิตของบุคคล เช่น ค่านิยมเรื่องการทำบุญทำทาน การชอบ ความสนุกสนานรื่นเริง การนิยมใช้ของต่างประเทศ ความจงรักภักดีต่อชาติ ฯลฯ

๒. สาระด้านหลักฐานความเป็นจริง
เนื้อหาที่เป็นหลักฐาน ทำให้ผู้อ่านได้ทราบความจริงเกี่ยวกับความ เปลี่ยนแปลง ทุก ๆ ทางของสังคม ค่านิยมและทัศนะของบุคคลในสมัยที่วรรณกรรม เรื่องนั้นเกิดขึ้น เช่น ในเสภาขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงพิธีโกนจุกว่า


ตัวอย่าง “ทองประศรีดีใจได้ฤกษ์ยาม ได้สิบสามปีแล้วหลานแก้วกู

จะโกนจุกสุกดิบขึ้นสิบค่ำ แกทำน้ำยาจีนต้มตีนหมู

พวกเพื่อนบ้านวานมาผ่าหมากพลู บ้างปัดปูเสื่อสาดลาดพรมเจียม

ทั้งหม้อเงินหม้อทองสำรองตั้ง มีทั้งสังข์ใส่น้ำมนต์ไว้จนเปี่ยม

อัฒจันทร์ชั้นพระก็ตระเตรียม ตามธรรมเนียมฆ้องกลองฉลองทาน”

ตัวอย่างแนวการวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทร้อยแก้ว
วรรณกรรมประเภทร้อยแก้วในปัจจุบันที่น่าสนใจ ได้แก่ เรื่องสั้น นวนิยาย และสารคดี วรรณกรรมเหล่านี้มีองค์ประกอบต่างกัน ผู้อ่านจำเป็นต้องทราบองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อที่จะพิจารณาวรรณกรรมได้อย่างละเอียด และได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

การอ่านและวิเคราะห์นวนิยาย
คำว่า “นวนิยาย” (Novel) หมายถึง หนังสือที่เขียนเป็นร้อยแก้ว เล่าถึงชีวิตในแง่ต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น ด้านความคิด ความประพฤติและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต จริงของมนุษย์ ชื่อคน หรือพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นเรื่องสมมติทั้งสิ้น นวนิยายแบ่งเป็น ๖ ประเภท ดังนี้
๑. นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องผู้ชนะสิบทิศ (อิงประวัติศาสตร์มอญ) ซูสีไทเฮา (อิงประวัติศาสตร์จีน) สี่แผ่นดิน (อิงประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน
รัชกาลที่ ๕-๘) กระท่อมน้อยของลุงทอม (อิงประวัติศาสตร์อเมริกา)
๒. นวนิยายวิทยาศาสตร์ คือ นวนิยายที่นำความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ มาเขียนเป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น เช่น กาเหว่าที่บางเพลง สตาร์วอร์ (Star war)
มนุษย์พระจันทร์ มนุษย์ล่องหน เป็นต้น
๓. นวนิยายลึกลับ ฆาตกรรม นักสืบ สายลับ เช่น เรื่องเชอร์ลอกโฮม มฤตยูยอดรัก
๔. นวนิยายเกี่ยวกับภูติผีปิศาจ เช่น แม่นาคพระโขนง กระสือ ศีรษะมาร เป็นต้น
๕. นวนิยายการเมือง คือ นวนิยายที่นำความรู้ทางการเมืองการปกครอง มาเขียนเป็นเนื้อเรื่อง เช่น เรื่องไผ่แดง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เปาปุ้นจิ้น สามก๊ก สารวัตรใหญ่ เป็นต้น
๖. นวนิยายด้านสังคมศาสตร์ คือ นวนิยายที่จะสะท้อนสภาพสังคม เช่น เรื่องเมียน้อย เสียดาย เพลิงบุญ เกมเกียรติยศ นางทาส เป็นต้น

องค์ประกอบของนวนิยาย
นวนิยายแต่ละเรื่องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
๑. โครงเรื่อง (Plot) หมายถึง ขอบข่ายหรือโครงของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลกัน
๒. เนื้อเรื่อง (Story) หมายถึง เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผู้เขียนถ่ายทอดยกมาทำให้ ผู้อ่านทราบว่าเรื่องที่อ่านนั้นเป็นเรื่องราวของใคร เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร เมื่อใด มีเหตุการณ์ หรือความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครอย่างไร เรื่องเริ่มต้นอย่างไร ดำเนินไปอย่างไร และจบอย่างไร
๓. ฉาก (Setting) คือ สถานที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่องอาจเป็นประเทศ เมือง หมู่บ้าน ทุ่งนาในโรงภาพยนตร์ ฯลฯ
๔. แนวคิด (Theme) ผู้แต่งจะสอดแทรกแนวคิดไว้อย่างชัดเจนในคำพูด นิสัย พฤติกรรม หรือบทบาทของตัวละคร หรือพบได้ในการบรรยายเรื่อง
๕. ตัวละคร (Characters) ผู้แต่งเป็นผู้สร้างตัวละครขึ้นมา โดยตั้งชื่อให้ แล้วกำหนดรูปร่าง หน้าตา เพศ วัย นิสัยใจคอ บุคลิกภาพ ตลอดจนกำหนดบทบาท และ
โชคชะตาของตัวละครเหล่านั้นด้วย

หลักการอ่านและพิจารณานวนิยาย ดังนี้
๑. โครงเรื่องและเนื้อเรื่อง การแสดงเนื้อเรื่องคือการเล่าเรื่องนั่นเอง ทำให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นเรื่องราวของใคร เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร เมื่อใด มีเหตุการณ์อะไร ส่วนโครงเรื่องนั้น คือส่วนที่เน้นความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเป็นเหตุผลต่อเนื่องกัน
โครงเรื่องที่ดีมีลักษณะดังนี้
๑.๑ มีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องและระหว่างบุคคลในเรื่อง อย่างเกี่ยวเนื่องกันไปโดยตลอด
๑.๒ มีข้อขัดแย้งหรือปมของเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ความขัดแย้งของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม การต่อสู้ระหว่างอำนาจอย่างสูงกับอำนาจอย่างต่ำในจิตใจ การชิงรักหักสวาท ฯลฯ
ข้อขัดแย้งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาอย่างน่าสนใจ
๑.๓ มีการสร้างความสนใจใคร่รู้ตลอดไป (Suspense) คือการสร้างเรื่องให้ผู้อ่านสนใจใคร่รู้ อยากอ่านต่อ อาจทำได้หลายวิธี เช่น การปิดเรื่องที่ผู้อ่านต้องการทราบไว้ก่อน การบอกใบ้ให้ผู้อื่นทราบว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในตอนต่อไป การจบเรื่องแต่ละตอน ทิ้งปัญหาให้ผู้อ่านอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวต่อไป
๑.๔ มีความสมจริง (Realistic) คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล มิใช่เหตุประจวบหรือเหตุบังเอิญที่มีน้ำหนักเบาเกินไป เช่น คนกำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน
หาทางออกหลายอย่างแต่ไม่สำเร็จ บังเอิญถูกสลากกินแบ่งจึงพ้นความเดือดร้อนไปได้
๒. กลวิธีในการดำเนินเรื่อง จะช่วยให้เรื่องน่าสนใจและเกิดความประทับใจ ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น
๒.๑ ดำเนินเรื่องตามลำดับปฏิทิน คือเริ่มตั้งแต่ตัวละครเกิด เติบโตเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม สาว แก่ แล้วถึงแก่กรรม
๒.๒ ดำเนินเรื่องย้อนต้น เป็นการเล่าแบบกล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนท้ายก่อนแล้วย้อนกลับไปเล่าตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบ
๒.๓ ดำเนินเรื่องสลับไปมา คือการเริ่มเรื่องในตอนใดตอนหนึ่งก่อนก็ได้ เช่น อาจกล่าวถึงอดีตแล้วกลับมาปัจจุบันอีก หรือการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดต่างสถานที่สลับกันไปมา
ผู้อ่านควรพิจารณาว่ากลวิธีในการดำเนินเรื่องของผู้เขียนแต่ละแบบนั้นมีผลต่อเรื่องนั้นอย่างไร ทำให้เรื่องน่าสนใจชวนติดตาม และก่อให้เกิดความประทับใจหรือไม่ หรือว่าก่อให้เกิดความ
สับสน ยากต่อการติดตามอ่าน
๓. ตัวละคร ผู้อ่านสามารถพิจารณาตัวละครในนวนิยายในด้านต่อไปนี้
๓.๑ ลักษณะนิสัยของตัวละคร
๑) มีความสมจริงเหมือนคนธรรมดาทั่วไปคือ มีทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัวเอง ไม่ใช่ว่าดีจนหาที่ติไม่ได้ หรือเลวจนหาที่ชมไม่พบ
๒) มีการกระทำหรือพฤติกรรมที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของตน ไม่ประพฤติปฏิบัติในที่หนึ่งอย่างหนึ่งและอีกที่หนึ่งอย่างหนึ่ง
๓) การเปลี่ยนลักษณะนิสัยของตัวละครต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล
๓.๒ บทสนทนาของตัวละคร บทสนทนาที่ดีควรพิจารณา ดังนี้
๑) มีความสมจริง คือสร้างบทสนทนาให้สอดคล้องกับฐานะและลักษณะ ของตัวละครในเรื่อง
๒) มีส่วนช่วยให้เรื่องดำเนินต่อไปได้
๓) มีส่วนช่วยให้รู้จักตัวละครในด้านรูปร่างและนิสัยใจคอ
๔) มีส่วนช่วยให้เรื่องน่าอ่าน มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะบทสนทนาที่คมคาย หรือมีอารมณ์ขัน
๔. ฉาก หมายถึง สถานที่และเวลาที่เรื่องนั้น ๆ เกิดขึ้น มีหลักการพิจารณา ดังนี้
๔.๑ สอดคล้องกับเนื้อเรื่องและช่วยสร้างบรรยากาศ เช่น บ้านร้างมีใยแมงมุม จับอยู่ตามห้อง ฯลฯ น่าจะเป็นบ้านที่มีผีสิง คืนที่มีพายุฝนตกหนักน่าจะเป็นฉากสำหรับ ฆาตกรรม
๔.๒ ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง ฉากที่มีความถูกต้องตามสภาพภูมิศาสตร์ และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ จะช่วยเสริมให้นวนิยายเรื่องนั้นมีคุณค่าเพิ่มขึ้น
๕. สารัตถะหรือสารของเรื่อง หมายถึง แนวคิด จุดมุ่งหมายหรือทัศนะของผู้แต่งที่ต้องการสื่อมาถึงผู้อ่าน ผู้แต่งอาจจะบอกผู้อ่านตรง ๆ หรือให้ตัวละครเป็นผู้บอกหรือ อาจปรากฏที่ชื่อเรื่อง แต่โดยมากแล้วผู้แต่งจะไม่บอกตรง ๆ ผู้อ่านต้องค้นหาสาระของเรื่องเอง เช่น เรื่องผู้ดีของดอกไม้สดต้องการแสดงว่า ผู้ดีนั้นมีความหมายอย่างไร เรื่องจดหมาย จากเมืองไทย ของโบตั๋น ต้องการแสดงให้เห็นข้อดีข้อเสียของคนไทย โดยเฉพาะน้ำใจ ซึ่งคนชาติอื่นไม่มีเหมือน
นวนิยายที่ดีจะต้องมีสารัตถะของเรื่องและมีคุณค่าต่อผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


สรุป
การอ่านหนังสือทุกประเภท ทั้งประเภทวรรณคดี วรรณกรรมไทยปัจจุบัน และวรรณกรรมท้องถิ่น ต้องอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ คิดพิจารณาแยกแยะหาเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย คุณ โทษ เพื่อประเมินคุณค่าแล้วนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการเรียนในชีวิตจริง

การอ่านจับใจความสำคัญและการอ่านคิดวิเคราะห์


  ความสำคัญ
             การอ่านเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาหาความรู้ และพัฒนาชีวิต ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิด
ความรู้แล้วยังก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้แนวคิดใน
การดำเนินชีวิต การอ่านจึงเป็นหัวใจของการศึกษาทุกระดับ และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้เรื่องต่างๆ
             การอ่านที่ดีมีประสิทธิภาพ จะต้องอ่านแล้วจับใจความได้ สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่อ่านได้
แต่การสำรวจการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนพบว่า ปัญหาที่สำคัญในการอ่านของผู้เรียนคือ
อ่านแล้วจับใจความสำคัญไม่ได้ ไม่สามารถสรุปประเด็นได้ ไม่สามารถแยกความรู้ ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น
ไม่สามารถแยกใจความสำคัญกับใจความรองได้ ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการอ่านเท่าที่ควร
ทั้งยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการศึกษาวิชาต่างๆด้วย
             หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้กำหนดคุณภาพของผู้เรียนด้านความเข้าใจ
ในการอ่านไว้ในช่วงชั้นเช่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 กำหนดให้อ่านแล้ว ..เข้าใจข้อความที่อ่าน.. 
ช่วงชั้น 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ..อ่านแล้วจับประเด็นสำคัญแยกข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น วิเคราะห์ความ
ตีความ สรุปความได้.. ช่วงชั้นที่ 3 คือมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 อ่านแล้วแสดงความคิดเห็นเชิง วิเคราะห์
ประเมินค่าเรื่องที่อ่านอย่างมีเหตุผลและในช่วงชั้นปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 อ่านแล้วสามารถตีความ
แปลความ และขยายความเรื่องที่อย่างลึกซึ้ง วิเคราะห์ วิจารณ์ ประเมินค่าเรื่องที่อ่านได้.. ซึ่งผู้เรียนจะมีคุณภาพ
ดังกล่าวได้ ต้องมีความสามารถในการอ่านจับใจความและเข้าใจเรื่องราวต่างๆ จากการอ่านได้เป็นอย่างดี

ความหมาย

             การอ่านจับใจความ คือ การอ่านที่มุ่งค้นหาสาระของเรื่องหรือของหนังสือแต่ละเล่มที่เป็นส่วน
ใจความสำคัญ และส่วนขยายใจความสำคัญของเรื่อง
             ใจความสำคัญของเรื่อง คือ ข้อความที่มีสาระคลุมข้อความอื่นๆ ในย่อหน้านั้นหรือเรื่องนั้นทั้งหมด 
ข้อความอื่นๆ เป็นเพียงส่วนขยายใจความสำคัญเท่านั้น ข้อความหนึ่งหรือตอนหนึ่งจะมีใจความสำคัญที่สุด
เพียงหนึ่งเดียว นอกนั้นเป็นใจความรอง คำว่าใจความสำคัญนี้ ผู้รู้ได้เรียกไว้เป็นหลายอย่าง เช่น ข้อคิดสำคัญ
ของเรื่อง แก่นของเรื่อง หรือ ความคิดหลัก ของเรื่องแต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญก็คือ
สิ่งที่เป็นสาระที่สำคัญที่สุดของเรื่องนั่นเอง
             ใจความสำคัญส่วนมากจะมีลักษณะเป็นประโยค ซึ่งอาจปรากฏอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของย่อหน้าก็ได้
             จุดที่พบใจความสำคัญของเรื่องในแต่ละย่อหน้ามากที่สุดคือ ประโยคที่อยู่ตอนต้นย่อหน้า 
เพราะผู้เขียนมักบอกประเด็นสำคัญไว้ก่อน แล้วจึงขยายรายละเอียดให้ชัดเจน รองลงมาคือประโยคตอนท้ายย่อหน้า
โดยผู้เขียนจะบอกรายละเอียดหรือประเด็นย่อยก่อน แล้วจึงสรุปด้วยประโยคที่เป็นประเด็นไว้ภายหลัง
สำหรับจุดที่พบใจความสำคัญยากขึ้นก็คือ ประโยคตอนกลางย่อหน้า ซึ่งผู้อ่านจะต้องใช้ความ
สังเกตุและพิจารณาให้ดี ส่วนจุดที่หาใจความสำคัญยากที่สุดคือย่อหน้าที่ไม่มีประโยคใจความสำคัญปรากฏ
ชัดเจน อาจมีประโยค หรืออาจอยู่รวมๆกันในย่อหน้าก็ได้ ซึ่งผู้อ่านจะต้องสรุปออกมาเอง


แนวการอ่านจับใจความ
             การอ่านจับใจความให้บรรลุจุดประสงค์ มีแนวทางดังนี้
             1.ตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านได้ชัดเจน เช่น อ่านเพื่อหาความรู้ เพื่อความเพลิดพลิน หรือเพื่อบอก
เจตนาของผู้เขียน เพราะจะเป็นแนวทางกำหนดการอ่านได้อย่างเหมาะสม และจับใจความหรือคำตอบได้รวดเร็ว
ยิ่งขึ้น
             2.สำรวจส่วนประกอบของหนังสืออย่างคร่าวๆ เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ สารบัญ คำชี้แจงการใช้หนังสือ 
ภาคผนวก ฯลฯ เพราะส่วนประกอบของหนังสือจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องหรือหนังสือที่อ่านได้
กว้างขวางและรวดเร็ว
             3.ทำความเข้าใจลักษณะของหนังสือว่าประเภทใด เช่น สารคดี ตำรา บทความ ฯลฯ
ซึ่งจะช่วยให้มีแนวทางอ่านจับใจความสำคัญ ได้ง่าย
             4.ใช้ความสามารถทางภาษาในด้านการแปลความหมายของคำ ประโยค และข้อความต่างๆ
อย่างถูกต้องรวดเร็ว
             5.ใช้ประสบการณ์หรือภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านมาประกอบ
จะทำความเข้าใจและจับใจความที่อ่านได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

ขั้นตอนการอ่านจับใจความ
             1.อ่านผ่านๆโดยตลอด เพื่อให้รู้ว่าเรื่องที่อ่านว่าด้วยเรื่องอะไร จุดใดเป็นจุดสำคัญของเรื่อง
             2.อ่านให้ละเอียด เพื่อทำความเข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ควรหยุดอ่านระหว่างเรื่องเพราะจะทำ
ให้ความเข้าใจไม่ติดต่อกัน
             3.อ่านซ้ำตอนที่ไม่เข้าใจ และตรวจสอบความเข้าใจบางตอนให้แน่นอนถูกต้อง
             4.เรียบเรียงใจความสำคัญของเรื่องด้วยตนเอง


การอ่านวิเคราะห
ความสำคัญ
             การอ่านวิเคราะห์เป็นทักษะการอ่านในระดับที่สูงขึ้นกว่าการอ่านทั่วๆไป กล่าวคือ มิใช่เป็นเพียง
การอ่านเพื่อความรู้และความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังต้องมีการวิเคราะห์สิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนในด้านต่างๆด้วย
             ครูควรจัดให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการอ่านวิเคราะห์อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้ 
ความคิด การตัดสินใจแก้ปัญหาและสร้างวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิต

ความหมาย
             การอ่านเชิงวิเคราะห์เป็นการอ่านหนังสือแต่ละเล่มอย่างละเอียดให้ได้ความครบถ้วนแล้วจึงแยกแยะ
ให้ได้ว่าส่วนต่างๆนั้นมีความหมายและความสำคัญอย่างไรบ้าง แต่ละด้านสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ อย่างไร
วิธีอ่านแบบวิเคราะห์นี้ อาจใช้วิเคราะห์องค์ประกอบของคำ
และวลี การใช้คำในประโยควิเคราะห์สำนวนภาษา จุดประสงค์ของผู้แต่ง ไปจนถึงการวิเคราะห์นัย
หรือเบื้องหลังการจัดทำหนังสือหรือเอกสารนั้น
             การวิเคราะห์เรื่องที่อ่านทุกชนิด สิ่งที่จะละเลยเสียมิได้ก็คือ การพิจารณาถึงการใช้ถ้อยคำสำนวนภาษาว่า
มีความเหมาะสมกับระดับ และประเภทของงานเขียนหรือไม่ เช่น ในบทสนทนาก็ไม่ควรใช้ภาษาที่เป็นแบบแผน
ควรใช้สำนวนให้เหมาะสมกับสภาพจริงหรือเหมาะ แก่กาลสมัยที่เหตุการณ์ในหนังสือนั้นเกิดขึ้น เป็นต้น ดังนั้น
การอ่านวิเคราะห์จึงต้องใช้เวลาอ่านมาก และยิ่งมีเวลาอ่านมากก็ยิ่งมีโอกาสวิเคราะห์ ได้ดีมากขึ้น
การอ่านในระดับนี้ ต้องรู้จักตั้งคำถามและจัดระเบียบเรื่องราวที่อ่าน เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องและความคิด
ของผู้เขียนต้องการ

การวิเคราะห์การอ่าน
              การวิเคราะห์การอ่านประกอบด้วย
             1.รูปแบบ 
             2.กลวิธีในการประพันธ์
             3.เนื้อหาหรือเนื้อเรื่อง
             4.สำนวนภาษา

กระบวนการวิเคราะห์
             1.ดูรูปแบบของงานประพันธ์ว่าใช้รูปแบบใด อาจเป็นนิทาน บทละคร นวนิยาย เรื่องสั้น 
บทร้อยกรอง หรือบทควมจากหนังสือพิมพ์
             2.แยกเนื้อเรื่องออกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร
             3.แยกพิจารณาแต่ละส่วนให้ละเอียดลงไปว่าประกอบกันอย่างไร หรือประกอบด้วยอะไรบ้าง
             4.พิจารณาให้เห็นว่าผู้เขียนให้กลวิธีเสนอเรื่องอย่างไร

การอ่านเชิงวิเคราะห์ในขั้นต่างๆ
             1.การอ่านวิเคราะห์คำ
              การอ่านวิเคราะห์คำ เป็นการอ่านเพื่อให้ผู้อ่านแยกแยะถ้อยคำในวลี ประโยค หรือข้อความต่างๆ 
โดยสามารถบอกได้ว่า คำใดใช้อย่างไร ใช้อย่างไร ใช้ผิดความหมาย ผิดหน้าที่ไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจนอย่างไร
ควรจะต้องหาทางแก้ไข ปรับปรุงอย่างไร เป็นต้น เช่น

                           1.อย่าเอาไปใช้ทับกระดาษ
                           2.ที่นี่รับอัดพระ
                           3.เขาท่องเที่ยวไปทั่วพิภพ
                           4.เจ้าอาวาสวัดนี้มรณกรรมเสียแล้ว   
             2.การอ่านวิเคราะห์ประโยค
             การอ่านวิเคราะห์ประโยค เป็นการอ่านเพื่อแยกแยะประโยคต่างๆ ว่าเป็นประโยคที่ถูกต้องชัดเจนหรือไม่
ใช้ประโยคผิดไปจาก แบบแผนของภาษาอย่างไร เป็นประโยคที่ถูกต้องสมบูรณ์เพียงใดหรือไม่
มีหน่วยความคิดในประโยคขาดเกินหรือไม่ เรียงลำดับความใน ประโยคที่ใช้ได้ถูกต้องชัดเจนหรือไม่ ใช้ฟุ่มเฟือย
โดยไม่จำเป็นหรือใช้รูปประโยคที่สื่อความหมายไม่ชัดเจนหรือไม่ เมื่อพบข้อบกพร่องต่างๆ
แล้วก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เช่น
                          1) สุขภาพของคนไทยไม่ดีส่วนใหญ่
                          2) การแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯเกิดการจลาจล
                          3) ทุกคนย่อมประสบความสำเร็จท่ามกลางความขยันหมั่นเพียร
                          4) เขามักจะเป็นหวัดในทุกครั้งที่ฝนเริ่มตก
             3.การอ่านวิเคราะห์ทัศนะของผู้แต่ง
              ผู้อ่านต้องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบว่าผู้เขียนเสนอทัศนะมีน้ำหนักเหตุผลประกอบข้อเท็จจริง
น่าเชื่อถือเพียงใด เป็นคนมองโลกในแง่ใด เป็นต้น
             4.การอ่านวิเคราะห์รส
              การอ่านวิเคราะห์รส หมายถึง การอ่านอย่างพิจารณาถึงความซาบซึ้งประทับใจที่ได้จากการอ่าน 
วิธีการที่จะทำให้เข้าถึงรสอย่างลึกซึ้ง คือการวิเคราะห์รสของเสียงและรสของภาพ
                          4.1 ด้านรสของเสียง ผู้อ่านจะรู้สึกได้ชัดจากการอ่านออกเสียงดังๆไม่ว่าจะเป็นการอ่าน
อย่างปกติหรือการอ่านทำนองเสนาะ จึงจะช่วยให้รู้สึกถึงความไพเราะของจังหวะ และความเคลื่อนไหว ซึ่งแฝงอยู่ใน
เสียง ทำให้เกิดความรู้สึกไปตามท่วงทำนองของเสียงสูงต่ำจากเนื้อเรื่องที่อ่าน
                          4.2 ด้านรสของภาพ เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วเกิดความเข้าใจเรื่อง ในขณะเดียวกัน
ทำให้เห็นภาพด้วย เป็นการสร้างเสริมให้ผู้อ่านได้เข้าใจความหมาย การเขียนบรรยายความด้วยถ้อยคำไพเราะ
ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ก่อให้เกิดภาพขึ้นในใจผู้อ่าน ทำให้เกิดความเพลิดเพลินและเข้าใจความหมาย
ของเรื่องได้ดียิ่งขึ้น
             5.การอ่านเพื่อวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหาและการตีความเนื้อหาของข้อความ
              การอ่านเชิงวิเคราะห์ ยังมีสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหา และการตีความ
เนื้อหาของหนังสือ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
                          5.1การวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหา มีหลักปฏิบัติดังนี้
                                       5.1.1 จัดประเภทหนังสือตามชนิดและเนื้อหา หนังสือแต่ละประเภท
มีวิธีอ่านต่างกัน ก่อนอ่านต้องวิเคราะห์รู้ว่า หนังสือเล่มนั้นอยู่ในประเภทใด การแบ่งประเภทจะดูแต่ชื่อเรื่อง
หรือลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ต้องสำรวจเนื้อหาด้วย อย่างไรก็ตาม ชื่อเรื่องเป็นสิ่งแรกที่ใช้
้เป็นแนวทางได้ เพราะผู้เขียนย่อมต้องพยายามตั้งชื่อเรื่องให้ตรงแนวเขียนหรือจุดมุ่งหมายในการเขียน
ของตนให้มากที่สุด
                                       5.1.2 สรุปให้สั้นที่สุดว่า หนังสือนั้นกล่าวถึงอะไร หนังสือที่ดีทุกเล่ม
ต้องมีเอกภาพ มีการจัดองค์ประกอบของส่วนย่อยอย่างมีระเบียบ ผู้อ่านต้องพยายามสรุปภาพ
ดังกล่าวออกมาเพียง 1-2 ประโยคว่า หนังสือเล่มนั้นมีอะไรเป็นจุดสำคัญหรือเป็นแก่นเรื่อง
แล้วจึงหาความสัมพันธ์กับส่วนสำคัญต่อไป
                                       5.1.3 กำหนดโครงสังเขปของหนังสือ เมื่ออ่านต้องตั้งประเด็นด้วยว่า
จากเอกภาพของหนังสือเล่มนั้นมีส่วนประกอบสำคัญบ้าง ส่วนที่สำคัญๆสัมพันธ์กันโดยตลอดหรือไม่ 
และแต่ละส่วนก็มีหน้าที่ของตน สนับสนุนซึ่งกันและกันหรือไม่
                                       5.1.4กำหนดปัญหาที่ผู้เขียนต้องการแก้ ผู้อ่านควรพยายามอ่านและค้นพบว่าผู้เขียนเสนอ
ปัญหา อะไร อย่างไร มีปัญหาย่อยอะไร และให้คำตอบไว้ตรงๆหรือไม่ การตั้งปัญหาเป็นวิธีการหนึ่ง
ที่จะทำให้เข้าใจเรื่อง แจ่มแจ้ง ยิ่งตั้งปัญหาได้กว้างขวางลึกซึ้งเพียงใด ยิ่งเข้าใจได้เพิ่มขึ้นเพียงนั้น
                          5.2 การตีความเนื้อหาของหนังสือ การตีความเป็นสิ่งที่ผู้อ่านทำความเข้าใจ 
ความคิดของผู้เขียน พิจารณาวัตถุประสงค์ของผู้เขียน ซึ่งบางครั้งผู้เขียนไม่ได้บอกความหมายหรือนัยของข้อความ
ที่เขียนออกมาตรงๆ แต่ผู้อ่านต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจบริบทของเรื่องเป็นอย่างดี จึงจะตีความได้ถูกต้อง 
การทำความเข้าใจความคิดของผู้เขียนนั้น ไม่ว่าความคิดจะถูกต้องหรือไม่เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม
แต่การพยายามเข้าใจเช่นนั้นทำให้เราไม่วิจารณ์ผู้เขียนอย่างไม่ยุติธรรม แต่จะพิจารณาทั้งข้อดี ข้อบกพร่อง 
ของงานเขียนนั้นอย่างแจ่มแจ้ง การตีความเนื้อหาของหนังสือมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
                                       5.2.1 ตีความหมายของคำสำคัญ และค้นหาประโยคสำคัญที่สุด ผู้อ่านต้องพยายาม
เข้าใจคำสำคัญ และเข้าใจประเด็นที่สำคัญที่ผู้เขียนเสนอ เพื่อเข้าใจความคิดของผู้เขียน
                                       5.2.2 สรุปความคิดสำคัญของผู้เขียน โดยพิจารณาว่าประโยคใดเป็นเหตุ ประโยคใดเป็นผล 
ประโยคใดเป็นข้อสรุป ซึ่งบางครั้งผู้เขียนไม่ได้สรุปความคิดออกมาให้เห็นชัดเจน แต่ผู้อ่านต้องพยายามสรุปออกมาให้ได้
                                       5.2.3 ตัดสินว่าอะไรคือการแก้ปัญหาของผู้เขียน เมื่อผู้อ่านตีตวามสำคัญ
ให้ตรงกับผู้เขียน เข้าใจความคิดสำคัญของผู้เขียน และสรุปความคิดของผู้เขียนได้แล้ว 
ผู้อ่านก็จะวิเคราะห์หรือตัดสินได้ว่า จากเรื่องราวหรือเหตุผลต่างๆที่ผู้เขียนนำมาเสนอนั้นมีความสมเหตุสมผล
หนักแน่น น่าเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด เพื่อนำไปสู่การวิจารณ์หนังสือเรื่องนั้นๆต่อไป

การพิจารณาหนังสือ
             การพิจารณาหนังสือเป็นการประเมินคุณค่าหนังสือด้านต่างๆ ถ้าผู้อ่านรู้หลักการประเมินจะทำให้
การอ่านหนังสือมีคุณค่า และความหมายมากยิ่งขึ้น เมื่ออ่านแล้วสามารถแสดงความคิดเห็นเชิงประเมินคุณค่า
ของหนังสือได้อย่าง มีหลักเกณฑ์ ผู้อ่านจะเข้าใจหนังสือนั้นได้อย่างลึกซึ้งและการพิจารณาหนังสือของตนจะม
ีประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย หนังสือมีหลายประเภทให้เลือกอ่าน แต่ละประเภทก็มีรายละเอียดหรือโครงสร้างแตกต่างกันไป
ตามลักษณะของหนังสือประเภทนั้นๆ ในที่นี้จะนำเสนอการพิจารณาหรือประเมินคุณค่าของหนังสือ 
บทความ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้เรียนจะต้องเรียน หรืออ่านในชีวิตประจำวัน ดังนี้

             1. การอ่านพิจารณาคอลัมน์ต่างๆจากหนังสือพิมพ์
                  หนังสือพิมพ์เป็นหนังสือที่คนจำนวนมากอ่านเป็นประจำทุกวัน มีคอลัมน์หลากหลายการอ่าน
หนังสือพิมพ์มีแนวการพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังนี้
                  1.1 การพาดหัวข่าว การพาดหัวข่าวเป็นการตั้งชื่อข่าวให้กระทัดรัดและพิมพ์ด้วยตัวอักษรใหญ่
เป็นพิเศษเพื่อดึงดูด ความสนใจ การพาดหัวข่าวที่ดีมีลักษณะดังนี้
                        1.1.1 หัวข่าวตรงกับสาระของข่าว ผู้เขียนข่าวไม่ควรพาดหัวข่าวไม่ตรงกับเนื้อหาสาระของข่าว
เพื่อเรียกร้อง ความสนใจ 
                        1.1.2 หัวข่าวใช้ภาษาที่กะทัดรัด เข้าใจง่าย ไม่ควรใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
และใช้คำผิดความหมายเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการขาย โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าทางภาษา เช่น
                                          1)ทัพกีฬาพิการหวัง 30 ทอง
                                          2)เปิดตัวกินปุ๋ยวัดใจนายก
                                          3)หื่นรุมสังฆกรรมสาวรุ่น
                  1.2 เนื้อหาของข่าว มีแนวพิจารณาดังนี้
                        1.2.1 เนื้อหาข่าวที่ดี ต้องเป็นข่าวจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ควรมีความคิดเห็น
หรือเพิ่มเนื้อหาตามใจผู้เขียน เพื่อให้ผู้ฟังชื่นชอบ ข่าวที่ดีต้องเป็นข่าวที่ส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก
หรือส่วนรวม เช่น ข่าวการเมือง การเลือกตั้ง ข่าวการปกครอง ข่าวสังคม ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการประกอบอาชีพ
หรือข่าวเกี่ยวกับการอนามัย เป็นต้น ไม่ควรเป็นข่าวของคนใดคนหนึ่ง เพื่อยกย่องเชิดชู โดยมุ่งหวัง
ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง และต้องเป็นข่าว ที่ไม่ทำลายความมั่นคงของชาติ ความสงบสุขของประชาชน
และศีลธรรมอันดีงาม
                        1.2.2 ภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาสุภาพ ไม่ควรใช้ภาษาหยาบคาย
                        1.2.3 การเล่าเหตุการณ์ในข่าวควรเล่าตามลำดับตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ปิดบังอำพราง 
มีเงื่อนงำสลับซับซ้อน 
                        1.2.4 การเล่าเหตุการณ์ทุกตอน ต้องอ้างอิงหลักฐานที่มา สถานที่เวลา รวมถึงบุคคล
ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้อ่านทราบรายละเอียด และมีความเชื่อถือในข่าว การปกปิดสถานที่ ชื่อหรือนามของบุคคล
ควรเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ใจที่ปกป้องผู้บริสุทธิ์ ผู้เยาว์หรือเป็นจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์
                  1.3 การพิจารณาบทความในวารสารหนังสือพิมพ์ มีดังนี้
                        บทความในวารสารและหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มากและแสดงความคิดเห็น
ของผู้เขียนอย่างเต็มที่ บทความที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
                        1.3.1 ผู้เขียนบทความต้องเป็นผู้ที่รู้เรื่องที่เขียนอย่างถ่องแท้ มีข้อมูลสามารถอ้างอิงได้
                        1.3.2 ผู้เขียนบทความต้องแสดงความคิดเห็นโดยอาศัยข้อเท็จจริง และเหตุผลอื่นๆ ประกอบอย่าง
กว้างขวาง การแสดงความคิดเห็นเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นตัวกำหนด
เพียงอย่างเดียว การแสดงความคิดเห็นนั้น ควรเป็นไปในทางสร้างสรรค์ และไม่อคติลำเอียง
                        1.3.3 การวิจารณ์ของผู้เขียนบทความ ต้องตั้งอยู่บนหลักการการตำหนิ ไม่ควรเน้น
ที่ตัวบุคคล แต่เน้นที่วิธีการหรือหลักการ ควรชี้ให้เห็นปัญหา และเสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง 
นอกจากนี้รูปแบบการเขียนและการใช้ภาษา ควรมีความถูกต้องเข้าใจง่ายไม่ใช้ถ้อยคำที่ส่อเสียดหยาบคาย
                  1.4 การพิจารณาคอลัมน์อื่นๆ คอลัมน์อื่นๆ มีวิธีการพิจารณาดังนี้
                        นอกจากข่าวและบทความแล้ว วารสารหรือหนังสือพิมพ์ยังมีอีกหลายคอลัมน์ เช่น 
บันเทิงคดี ประกาศ โฆษณา ความรู้ต่างๆ การพิจารณาคุณค่าในแต่ละคอลัมน์ ควรพิจารณาเรื่องการใช้ภาษา
การเขียน และคุณค่าที่ได้รับจากการอ่าน เป็นต้น 
             2.การพิจารณาหนังสือประเภทสารคดี
                        สารคดี ได้แก่ หนังสือที่ให้แนวความรู้ต่างๆ เช่น ด้านปรัชญา ตรรกวิทยา การศึกษา
ควรพิจารณาในด้านต่างๆดังนี้ 
                        2.1 เนื้อหาสาระ มีความถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาหรือไม่ เรื่องนำมาเขียนมี
สาระประโยชน์เพียงใด เหมาะสำหรับผู้อ่านระดับใด
                        2.2 วิธีเสนอหนังสือ อาจเสนอเป็นความเรียงวิชาการ มีการค้นคว้าหาความรู้ 
อ้างอิงประกอบ หรือเสนอเป็นบันทึกของผู้เขียน เล่าประสบการณ์ของตน หรือเสนอเป็นจดหมายให้โต้ตอบ
ควรพิจารณาว่าผู้เขียนมีวิธีเขียนที่ชวนอ่าน เข้าใจง่ายหรือไม่สำนวนภาษาสื่อความหมายได้แจ่มแจ้งหรือไม่
เหมาะแก่ระดับของผู้อ่าน ตามความตั้งใจของผู้เขียนหรือไม่ เพียงใด
                        2.3 การวางเค้าโครงเรื่อง เค้าโครงเรื่องที่เขียน จะต้องมีการจัดลำดับอย่างมีระเบียบ
จึงควรพิจารณาว่าผู้เขียนสามารถทำให้ความสำคัญๆ เชื่องโยงต่อเนื่องกันได้ดีเพียงใด มีการเรียงลำดับ
ความยากง่ายเพื่อช่วยความเข้าใจของผู้อ่านหรือไม่
                        2.4 ส่วนประกอบของหนังสือ ส่วนประกอบต่างๆ ของหนังสือได้แก่ คำนำ สารบัญ 
ดัชนี บรรณานุกรม อภิธานศัพท์สามารถช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความสำคัญของหนังสือได้รวดเร็ว 
ควรพิจารณาว่าหนังสือนั้นๆ มีส่วนประกอบอำนวยประโยชน์ดังกล่าวหรือไม่
                        2.5 วุฒิและประสบการณ์ของผู้เขียน หนังสือสารคดีบางเล่ม จะมีประวัติย่อ 
วุฒิและประสบการณ์ของผู้เขียนบอกไว้ด้านหลัง รายละเอียดดังกล่าวจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถวินิจฉัยได้ดียิ่งขึ้นว่า
เรื่องนั้นๆมีคุณค่าน่าเชื่อถือหรือไม่
                        2.6 คุณภาพการพิมพ์และการออกแบบรูปเล่ม สิ่งที่ชี้ให้เห็นคุณภาพของหนังสือ 
เช่น การจัดหัวเรื่องทำให้สื่อความได้ชัดเจน การพิสูจน์อักษรถูกต้อง การออกแบบรูปเล่มเหมาะสมน่าอ่าน
             3. การพิจารณาหนังสือประเภทบันเทิงคดี
                       หนังสือประเภทบันเทิงคดี อาจมีวิธีการพิจารณาในด้านต่างๆ ดังนี้
                        3.1 แก่นของเรื่องหรือแนวเรื่อง หมายถึง แนวคิดสำคัญของผู้เขียน ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่อง
                        3.2 การวางโครงเรื่อง หมายถึง การผูกเรื่องให้มีตัวละครและเหตุการณ์เชื่อมโยง 
สัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแกนของเรื่องที่ผู้แต่งวางแนวไว้และต้องดำเนินไป
อย่างสมเหตุสมผล
                        3.3 ตัวละคร ตัวละครอาจมีน้อยหรือมากแล้วแต่ความประสงค์ของผู้แต่ง การเสนอ
ตัวละครที่น่าสนใจต้องเป็นตัวละครที่มีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่มีความสมจริง คือ เป็นบุคคลที่อาจหาได้
ในชีวิตจริง มิใช่ดีหรือเลวจนผิดมนุษย์ธรรมดา นอกจากนั้นพฤติกรรมต่างๆของตัวละคร ควรสะท้อนภาพชีวิตจริง
ของสังคม ตามความเป็นจริงด้วย

                        3.4 ฉาก เป็นส่วนที่ช่วยทำให้บรรยากาศของเรื่องเป็นไปอย่างสมจริง ซึ่งผู้เขียนจะต้อง
บรรยายให้ตรงกับความเป็นจริง หรืออยู่ในวิสัยที่เป็นจริงได้
                        3.5 สำนวนภาษาและลีลาในาการเขียน นักเขียนจะมีสำนวน หรือลีลาการเขียน
เป็นแบบฉบับของตน ดังนั้นผู้วิจารณ์จะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ ว่าผู้เขียนมีลีลาการเขียนอย่างไร
                        3.6 สารจากผู้เขียน สารที่ผู้เขียนให้ หมายถึง ข้อคิด หรือบางสิ่งบางอย่างที่
ผู้เขียนฝากไว้ให้ ซึ่งผู้อ่านอาจได้รับแตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ของผู้อ่าน ควรฝึกทักษะให้ไว
ต่อการรับสารของผู้เขียน และตีความเข้าใจ เพื่อให้การอ่านเรื่องบันเทิงคดีมีรสชาติมากยิ่งขึ้น

             4. การพิจารณาหนังสือประเภทร้อยกรองหรือกวีนิพนธ์
                   หนังสือประเภทร้อยกรองหรือกวีนิพนธ์ มีวิธีการพิจารณาดังนี้
                        4.1 รูปแบบของฉันทลักษณ์ รูปแบบของฉันทลักษณ์ คือลักษณะบังคับของบทร้อยกรอง

แต่ละประเภทซึ่งต่างกัน ควรพิจารณาความถูกต้องของรูปแบบฉันทลักษณ์นั้นๆเป็นเกณฑ์
                        4.2 ความคิดเห็นและเนื้อหาสาระในบทกวี บทกวีที่ดีจะต้องมีเนื้อหาสาระที่แสดงความนึกคิด
อันมีคุณค่าแก่ชีวิต บทกวีบางบทให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ในด้านต่างๆ เช่น อารมณ์รัก อารมณ์เศร้า 
อารมณ์โกรธ ฯลฯ บางบทให้คติเตือนใจ ให้ความรู้เรื่องต่างๆ เป็นต้น จึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่ากวีให้ความคิด
อะไรแก่ผู้อ่านบ้าง และมีเนื้อหาสาระอย่างไร
                        4.3 กลวิธีการแต่ง หรือวรรณศิลป์ กลวิธีในการแต่งหรือวรรณศิลป์นี้อาจพิจารณาได้
จากการเลือกคำมาใช้ให้เหมาะสมกับความ การเล่นเสียงด้วยสัมผัสสระ พยัญชนะ การใช้โวหารแบบต่างๆ
การใช้สัญลักษณ์ ซึ่งกวีแต่ละคนจะมีกลวิธีแต่งแตกต่างกันไปเป็นเฉพาะตน

                        4.4 รสของบทร้อยกรอง หมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นแก่ผู้อ่าน เมื่อถ้อยคำแก่ผู้อ่าน 
เมื่อถ้อยคำสำนวนหรือเรื่องราวในบทร้อยกรองนั้นๆ มากระทบอารมณ์ อาจให้ความรู้สึกทางด้านความรัก 
ความเศร้า ความตื้นเต้น ฯลฯ แล้วแต่ลักษณะของบทร้อยกรองและอารมณ์ของผู้อ่านขณะนั้น
                        4.5 สารจากบทร้อยกรอง บทร้อยกรองก็มีสารของผู้แต่งฝากไว้เช่นกัน ดังนั้นจึงควร
พิจารณาให้ถี่ถ้วนเพื่อรับสารจากผู้เขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

             การประเมินคุณค่าของหนังสือไม่ว่าประเภทใด ผู้ประเมินควรอ่านหนังสือนั้นๆอย่างละเอียด 
และพิจารณาทั้งจุดดีและจุดด้อยของหนังสือด้วยใจเป็นธรรม ปราศจากอคติ ซึ่งเมื่อได้อ่านหนังสือมากๆ 
และฝึกการวิเคราะห์ ตลอดจนมีการประเมินคุณค่าของหนังสืออยู่เสมอแล้ว ก็จะช่วยให้มีวิญญาณ ในการอ่านหนังสือ
และอ่านหนังสืออย่างมีอรรถรสยิ่งขึ้น  
ที่มา :    วิชาการ, กรม การจัดสาระการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  
                พุทธศักราช 2544   .ศ.2546